posttoday

แนะผู้นำชุมชนท้องถิ่นน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปฏิบัติสร้างความเข้มแข็ง

07 ตุลาคม 2562

“หมอประเวศ” แนะผู้นำท้องถิ่น 4 พันคนยึดหลัก 3H "ทำงานด้วยหัวใจ ความรู้ และลงมือทำจริงจัง" ชู 4 กลไกขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปฏิบัติสร้างความเข้มแข็ง

“หมอประเวศ” แนะผู้นำท้องถิ่น 4 พันคนยึดหลัก 3H "ทำงานด้วยหัวใจ ความรู้ และลงมือทำจริงจัง" ชู 4 กลไกขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปฏิบัติสร้างความเข้มแข็ง

ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวที “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร” โดยมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ และภาคีเครือข่าย ร่วมงานราว 4,000 คน

แนะผู้นำชุมชนท้องถิ่นน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปฏิบัติสร้างความเข้มแข็ง

นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้สร้างสังคมสุขภาวะ” ตอนหนึ่งว่า สังคมที่เหลื่อมล้ำนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ สังคม การเมือง เนื่องจากเสียสมดุลทำให้ไม่ยั่งยืนและไม่มีภูมิคุ้มกัน การรวมตัวกันของสุดยอดผู้นำตั้งแต่วันที่ 3-5 ต.ค. นี้เป็นการถักทอพลังบวกของคนไทยครั้งใหญ่ เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการของประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้น

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสุขภาวะในประเทศไทยไม่ใช่การสร้างสุขภาพดีเท่านั้น แต่ทำได้ในทุกมิติ ทั้งกาย ใจ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ การสร้างนวัตกรรมสร้างสังคมด้วยการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง (Interactive learning through action) โดยใช้ผู้นำสร้างสังคมสุขภาวะเป็นการสร้างสังคมแบบองค์รวมขับเคลื่อนสังคมไปทุกระดับลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

“การนำพาประเทศสร้างสังคมสุขภาวะและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยจะสำเร็จได้ ผู้นำชุมชนท้องถิ่นต้องทำงานด้วยหลัก 3H ประกอบด้วย 1.Heart คือทำงานด้วยหัวใจของเพื่อนมนุษย์ ใช้น้ำใจ เคารพผู้อื่นให้คุณค่าและศักดิ์ศรีเสมอกัน สร้างคุณค่าให้ผู้อื่นอย่างกล้าหาญ 2.Head คือ ทำงานด้วยข้อมูลความรู้และสติปัญญา และ 3.Hand คือการลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” ศ.เกียรติคุณ นพ. ประเวศ กล่าว

แนะผู้นำชุมชนท้องถิ่นน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปฏิบัติสร้างความเข้มแข็ง

นพ.ประเวศ กล่าวว่า กลไกการทำงานเพื่อความยั่งยืน ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การถักทอพลังบวก ตั้งแต่ส่วนกลางระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เชื่อมโยงตั้งเป็นมูลนิธิ เป็นเครื่องมือการทำงาน 2.จัดการประชุมภาคีคนไทยถักทอพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง 3.สร้างสถาบันส่งเสริมศักยภาพผู้นำ โดยเชิญองค์กรธุรกิจมาร่วมด้วย และ 4.การจัดเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อรวมพลังท้องถิ่นและท้องที่เพื่อให้เข้าใจชุมชนนำไปพัฒนาสังคมสู่สุขภาวะอย่างแท้จริง

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นสัญลักษณ์ของการกระจายอำนาจ เป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชน ความสำเร็จของการพัฒนา ชี้วัดได้ว่าประเทศของเราเป็นประเทศที่น่าอยู่ โดยในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สสส.ได้เข้าไปร่วมทำงานกับ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ อปท. ทำงานควบคู่กับองค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พัฒนาชุมชน จับมือสร้างการมีส่วนร่วมของท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยใช้เครื่องมือและหลักสูตรหนุนเสริมซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่ดีในการขับเคลื่อนเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนต้องใช้หลัก 3H (Heart-Head-Hand) ดังคำแนะนำของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงจะสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติให้กับชุมชนได้

สำหรับ เวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร ในปีที่ 2 ได้มีการคัดเลือกสุดยอดผู้นำชุมชนระดับท้องถิ่นจำนวน 99 คนเพื่อเข้ารับเกียรติบัตร “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น” ประจำปี 2562 นอกจากนี้มีผู้นำขับเคลื่อนปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่น (The Action – driven Leader) จำนวน 59 คน ผู้นำทรงคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น (The Valuable Leader) จำนวน 81 คน

แนะผู้นำชุมชนท้องถิ่นน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปฏิบัติสร้างความเข้มแข็ง

ด้านนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นตัวแทนผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: สร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร ที่มีผู้นำชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วม จำนวน 3,980 คน จาก 575 ตำบล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประกาศความมุ่งมั่น “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น” เพื่อแสดงความมุ่งมั่น โดยยึดข้อบัญญัติ 10 ประการ มีการน้อมนำศาสตร์ของพระราชา อันได้แก่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาปฏิบัติจนเป็นวิถีของทุกชุมชนทุกท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด