posttoday

TIJ ผนึก 4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกใหม่เพื่อการสืบสวนสอบสวน

03 ตุลาคม 2562

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จับมือ 4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกใหม่เพื่อการสืบสวนสอบสวน

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จับมือ  4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกใหม่เพื่อการสืบสวนสอบสวน

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จับมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สมาคมเพื่อการยุติการทรมาน (Association for the Prevention of Torture - APT) และศูนย์สิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ (NCHR) จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติว่าด้วยอนาคตของการสืบสวนสอบสวน: การซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวน และมาตรการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาระเบียบปฏิบัติการสอบสวนเทียบเท่าสากล ส่งเสริมหลักนิติธรรมควบคู่หลักสิทธิมนุษยชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนที่ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนกว่า 100 คนเข้าร่วมประชุม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม คือ การทำความจริงให้ปรากฏโดยปราศจากข้อสงสัย และการสืบสวนสอบสวนซึ่งถือเป็นต้นน้ำในการแสวงหาและพิสูจน์ความจริง จึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม

TIJ ผนึก 4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกใหม่เพื่อการสืบสวนสอบสวน

Mr. Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่ากระบวนการสอบสวนสืบสวนที่ใช้การทรมานหรือข่มขู่ผู้ต้องสงสัย ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่น่าเชื่อถือ สอดคล้องกับความเห็นของ Mr. Juan E. Mendez อดีตผู้ตรวจการพิเศษด้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่า การทรมานระหว่างการสอบสวนจะทำให้ผู้ต้องสงสัยยอมตอบในสิ่งที่ทำให้ผู้สอบสวนพอใจ แต่เป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน

นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมากรมฯได้ร่วมมือกับศูนย์สิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ในการจัดฝึกอบรมเรื่องการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และเชื่อว่า ทุกหน่วยงานสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการอบรมนี้ไปประยุกต์ใช้ในการสืบสวนสอบสวนในรูปแบบทางเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยกันขับเคลื่อนให้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้ต่อไป

พ.ต.ท.คมวิชช์ พัฒนรัฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า DSI ได้มีการพัฒนาบุคลากรในด้านการสืบสวนสอบสวนตามแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยมีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญมาร่วมประชุมและร่างหลักสูตร พร้อมจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ คาดว่าในช่วงต้นปี 2563 จะสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างจริงจัง และจะร่วมกับ TIJ ในการประเมินและพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานมากขึ้น

TIJ ผนึก 4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกใหม่เพื่อการสืบสวนสอบสวน

สำหรับกระบวนการสอบสวนที่เน้นการซักถาม หรือ Investigative Interviewing จะให้ความสำคัญกับความเป็น “มนุษย์” ดังนั้น เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานจะต้องรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง (Fact) มากขึ้น โดยแบ่งขั้นตอนการซักถามออกเป็น 6 ขั้นตอน คือ 1. การวางแผนและเตรียมการสอบสวน (Planning and Preparation) 2. การแนะนำตัวและส่งเสริมสิทธิของผู้ต้องสงสัย (Introduction and Support) 3. การรับฟังสิ่งที่ผู้ต้องสงสัยบอกเล่า (Free Account) 4. การตั้งคำถามเพื่อการเก็บข้อมูลอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และเป็นธรรม (Clarification and Disclosure) เพื่อให้ทราบถึงมูลเหตุจูงใจ ต้นตอของปัญหา 5. การปิดการสัมภาษณ์ (Closure) และ 6. การที่ผู้สอบสวนจะต้องประเมินตนเอง (Evaluation)

ศ.ณรงค์ ใจหาญ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ กล่าวว่า หน่วยงานรัฐจะต้องดำเนินการฝึกอบรมให้ทราบถึงเทคนิคในการสืบสวนสอบสวนด้วยการซักถาม และช่วยให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนก็จำเป็นต้องเตรียมตัวและข้อมูลก่อนสอบปากคำ และต้องมีเวลาเพียงพอในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้อง รอบคอบ และยุติธรรม
TIJ หวังว่า ผลจากการประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เกี่ยวกับ “แนวทางการปฏิบัติสากลว่าด้วยการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนและมาตรการการป้องกันที่เกี่ยวข้อง” หรือ “เครื่องมือ” ทางเลือกแห่งอนาคต โดยมุ่งหวังให้ เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานจะเข้าใจถึงหลักการ และแก่นแท้ในการนำ “เครื่องมือ” ดังกล่าวมาปรับใช้ในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งจะช่วยยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

TIJ ผนึก 4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกใหม่เพื่อการสืบสวนสอบสวน