posttoday

สนพ.โชว์ศักยภาพการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย

02 ตุลาคม 2562

สนพ.โชว์นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ในงาน “ASEAN Smart Cities Network Conference & Exhibition 2019” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง

สนพ.โชว์นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ในงาน “ASEAN Smart Cities Network Conference & Exhibition 2019” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน โชว์นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ผ่านนิทรรศการ Smart Energy ในงาน “ASEAN Smart Cities Network Conference & Exhibition 2019” หรือ การจัดประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ครั้งที่ 2 พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงาน มุ่งสู่เป้าหมายการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง

สนพ.โชว์ศักยภาพการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมด้านการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยในเวทีอาเซียนและนานาชาติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนในอนาคต ตามแนวทางเครือข่ายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart City Network) ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นชอบร่วมกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยเสนอกรุงเทพมหานคร เป็นโมเดลการพัฒนาด้านการคมนาคมอัจฉริยะ ภูเก็ต เป็นโมเดลการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอัจฉริยะ และ ชลบุรี เป็นโมเดลการพัฒนาด้านพลังงานอัจฉริยะ จากจำนวนเมืองอัจฉริยะนำร่องทั้งหมด 26 เมือง ของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมี กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของไทย

สำหรับ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งใน 7 องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือ พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) โดยเมืองดังกล่าวต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกลุ่มของอาคาร บ้านเรือน และโรงงาน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสมผสานการใช้พลังงานทางเลือก

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความเป็นเมืองพลังงานอัจฉริยะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารให้มีค่าดัชนี้ชี้วัดการใช้พลังงานต่อพื้นที่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน มีการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน การผลิตพลังงานในพื้นที่เพื่อลดการพึ่งพาจากแหล่งภายนอก มีระบบผลิตและส่งความเย็นหรือความร้อนจากส่วนกลางของเมือง (District cooling/District heating) มีระบบจัดเก็บพลังงาน (energy storage) ส่งเสริมและมีการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการพลังงานเชิงพื้นที่มีประสิทธิภาพมีการใช้มิเตอร์อัจฉริยะ ระบบไมโครกริด ระบบการใช้พลังงานในบ้านและอาคารแบบอัจฉริยะ เป็นต้น

การเป็นเมืองพลังงานอัจฉริยะจะทำให้มีการบริหารจัดการพลังงานในเมืองได้อย่างชาญฉลาด มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง มีแหล่งผลิตพลังงานทำให้ลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งภายนอก มีการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดมลพิษจากการจราจร เป็นการยกระดับเมืองไปสู่การใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และจะส่งผลดีต่อภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก