posttoday

รพ.หัวใจกรุงเทพคัดผู้ป่วย 14 รายรักษาฟรีด้วยเทคนิคพิเศษ

17 กันยายน 2562

รพ.หัวใจกรุงเทพเปิดตัวโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ผ่านเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด

รพ.หัวใจกรุงเทพเปิดตัวโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ผ่านเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด

เนื่องในวันหัวใจโลก 2562 และโอกาสครบรอบ 14 ปี รพ.หัวใจกรุงเทพ จัดงาน World Heart Day : BE A HEART HERO พร้อมเปิดตัวโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) ให้กับผู้ป่วย ซึ่งทางมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ร่วมกับ รพ.หัวใจกรุงเทพ

รพ.หัวใจกรุงเทพคัดผู้ป่วย 14 รายรักษาฟรีด้วยเทคนิคพิเศษ

ทั้งนี้ ดำเนินโครงการรักษาให้ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ซึ่งมีกายวิภาค หรือมีลักษณะรอยโรคที่เหมาะสม ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา จำนวน 14 ราย ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยและมาพบแพทย์ตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนใหญ่จะมีอาการและมาพบแพทย์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาการใจสั่น เหนื่อยง่าย ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลวได้

ด้าน นพ.ประดับ สุขุม ที่ปรึกษา รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า รพ.หัวใจกรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นจากศูนย์หัวใจ เดิมเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางของรพ.กรุงเทพมาก่อน แต่ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคหัวใจ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ จึงได้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ” ในปีพ.ศ. 2548 เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางชั้นนำด้านโรคหัวใจของประเทศไทย ที่มีความพร้อมด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการให้บริการครบครันตั้งแต่ การป้องกันโรคหัวใจ การตรวจรักษา และ การฟื้นฟูส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจของผู้ป่วยตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินการจวบจนถึงปัจจุบันรวมเป็นระยะเวลา 14 ปี ให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจประมาณปีละ 100,000 ราย ทีมแพทย์มีประสบการณ์ในการผ่าตัดหัวใจประมาณ 300 รายต่อปีและทำหัตถการสวนหัวใจผู้ป่วยประมาณปีละ1,000 ราย ซึ่งในปีนี้ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิตฯ เปิดตัว โครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด

นอกจากนั้น ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายของการรักษา เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้เอง รวมถึงต้องรอคอยการรักษาที่โรงพยาบาลอื่นเป็นระยะเวลานาน จำนวน 14 ราย และมีกายวิภาคหรือลักษณะรอยโรคที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการรักษา จุดมุ่งหมายที่รพ. อยากให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการรักษาให้หายขาด พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องรับการผ่าตัด เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางโรงพยาบาลอยากมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ รพ.หัวใจกรุงเทพ และในฐานะอายุรแพทย์โรคหัวใจ ชำนาญด้านหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD : Atrial Septal Defect Secundum trype) เกิดจากการที่มีรูรั่วบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องบน ส่งผลให้เลือดแดงไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายไปห้องบนขวาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจมีโอกาสโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กเล็กอาจจะไม่ปรากฏอาการโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum type พบได้ประมาณ 75%ของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วทั้งหมด

สำหรับ การรักษาในรายที่มีลักษณะรูรั่วที่เหมาะสม แพทย์สามารถทำการรักษาด้วย เทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) โดยนำอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เข้าไปปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจผ่านทางสายสวนหัวใจโดยนำเข้าทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบขา เมื่อถึงบริเวณรูรั่วอุปกรณ์จะถูกปล่อยไปวางยังตำแหน่งรูรั่วเพื่อปิดรูที่รั่ว หลังจากนั้นร่างกายจะค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาคลุมภายใน 3 - 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่สามารถทำได้ทุกราย ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะกายวิภาค และพยาธิสภาพของรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ถ้ารูที่รั่วมีขนาดมากกว่า 36 มิลลิเมตร หรือมีรูรั่วหลายรู ในรายที่มีโรคหัวใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ก็ต้องพิจารณาร่วมกับศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อผ่าตัดรักษาต่อไป การรักษาด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ ประสบการณ์ของทีมแพทย์หัวใจด้วย