posttoday

เลขาฯ รัฐมนตรี ทส. รับลูกเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 คลัสเตอร์ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

17 กันยายน 2562

เลขานุการรัฐมนตรี ทส. รับลูกเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 คลัสเตอร์ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เลขานุการรัฐมนตรี ทส. รับลูกเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 คลัสเตอร์ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากผลติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เน้นขับเคลื่อน 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ป่าและสัตว์ , สิ่งแวดล้อม และน้ำ เพื่อให้เกิดการแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น ขณะนี้ได้มีการดำเนินงานและมีความคืบหน้าแล้วในหลายส่วน โดยในเรื่องป่าและสัตว์  กระทรวงฯ ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% จากปัจจุบันเหลือแค่ 30% ซึ่งภารกิจสำคัญคือการจัดสรรพื้นที่ให้มีความเหมาะสม ต้องสร้างป่าเพิ่มทดแทนการบุกรุกทำลาย สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ป่ารุกคน – คนรุกป่า  จะใช้คณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาร่วมแก้ปัญหา โดยจะต้องแยก “นายทุน” ออกจาก “เกษตรกร” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิทธิทำกินให้ชัดเจนเพื่อให้คนจนได้มีที่ดินทำกินจริง ๆ พร้อมถอดบทเรียน “ป่าพรุควนเคร็ง” เป็น “ต้นแบบ” การจัดการไฟป่าของประเทศ นอกจากนี้จะมีการจับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันกำหนดเขตพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเผาป่าเพื่อยึดครองที่ดิน หากพบต้องดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด พร้อมระดมปลูกป่าขนานใหญ่เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดั่งเดิม"

ด้าน “สัตว์ป่า” ทั้งสัตว์ป่าเชิงพาณิชย์กับสัตว์ป่าธรรมชาติต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก และ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) อย่างเคร่งครัด พร้อมกับเสริมเขี้ยวเล็บให้กับทีมงานรับผิดชอบป้องกันการลักลอบการค้าสัตว์ป่าที่ปัจจุบันทั้งประเทศมีอยู่ราว 20 คนเท่านั้น ถือว่าน้อยมากในการป้องกันและปราบปรามพวกค้าสัตว์ป่า

เลขาฯ รัฐมนตรี ทส. รับลูกเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 คลัสเตอร์ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น จึงกำหนดแนวทางใหม่ คือ ประสานความร่วมมือกับอัยการ ศาล ตำรวจ และภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) มาช่วยกันทำงานอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าจากพวก “นักฆ่า” หรือ “นักค้าสัตว์”  ซึ่งท่านรัฐมนตรีฯ ให้ความสำคัญมากถึงขนาดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจด้านสัตว์ป่า” ขึ้นเป็นการเฉพาะพร้อมให้การสนับสนุนอุปกรณ์การทำงานของพนักงานพิทักษ์ป่าให้เพียงพอ ทั้งอาวุธและเครื่องกระสุน แผนที่ เครื่องหาพิกัดบนพื้นโลก วิทยุสื่อสาร อุปกรณ์ภาคสนาม รวมถึงสวัสดิการ และเสริมความรู้ของพนักงานพิทักษ์ป่าให้สอดคล้องกับภารกิจการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

“สำหรับปัญหาขยะพลาสติก กับฝุ่น PM2.5 ซึ่งอยู่ใน คลัสเตอร์ “สิ่งแวดล้อม” ล่าสุดท่านรัฐมนตรีฯ ได้หารือกับภาคเอกชน 43 บริษัท และได้กำหนดให้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยทุกห้างสรรพสินค้าหรือห้างร้านต่าง ๆ  ต้องงดแจกถุงพลาสติก โดยเป็นมาตรการขอความร่วมมือ “กึ่งบังคับ” เพราะในอนาคตต้องหยุดและเลิกใช้เพื่อไม่ให้ถุงพลาสติกตกค้างในระบนิเวศ หรือลงสู่ทะเล กลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเล และกลายเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นทุกสถานที่ท่องเที่ยวของกรมอุทยานฯ จะห้ามนักท่องเที่ยวนำขยะพลาสติกเข้าไป และต้องนำขยะกลับมาด้วย ยิ่งปัจจุบันเกิดความวิตกเรื่องพลาสติกย่อยสลายได้หรือไบโอพลาสติกที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม จะต้องบริหารจัดการให้มีความปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

เลขาฯ รัฐมนตรี ทส. รับลูกเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 คลัสเตอร์ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ส่วนปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาขยะ เพราะมีสาเหตุมาจากควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การเผาป่า และจุด Hot Spot ที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน แต่หมอกควันลอยมาตกที่ประเทศไทย ดังนั้น การเตือนภัยประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ให้สวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน ถือเป็นมาตรการหนึ่ง แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องมีมาตรการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ที่มีปัญหา โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

นายธเนศพล กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเรื่อง “น้ำ” เป็นสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีฯ ให้ความสำคัญอันดับต้นๆ โดยประกาศชัดเจนว่า พื้นที่ “แล้งซ้ำซาก” พี่น้องประชาชนต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร จึงเร่งจัดทำโครงการ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้ง

“ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณน้ำใต้ดินที่ใช้ได้ราว ๆ 75,000 ล้านคิวต่อปี ซึ่งมีปริมาณพอ ๆ กับอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถนำน้ำใต้ดินมาใช้ได้ประมาณ 45,000 ล้านคิวต่อปี แต่ปัจจุบันมีการดึงน้ำใต้ดินมาใช้จริงเพียงแค่ 15,000 ล้านคิวต่อปีเท่านั้น และเพื่อให้สามารถใช้น้ำได้เต็มประสิทธิภาพ ทางกระทรวงฯ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้ประสานความร่วมมือกับ กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ ฯลฯ จัดทำ “แผนที่น้ำใต้ดิน” เพื่อให้รู้ว่าจุดใดในพื้นที่แล้งซ้ำซากมีน้ำใต้ดินที่สามารถ “ดึง” มาใช้ในช่วงน้ำแล้ง และ “เติม” น้ำลงดินในช่วงน้ำเยอะ โดยใช้พลังงานทางเลือก “โซล่าเซลล์” มาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาเก็บไว้ในแทงค์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ “เศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี” ที่ต้องมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตร การอุปโภค-บริโภค และปัญหาน้ำขาดแคลนต้องไม่มีเด็ดขาด”