posttoday

ดึงกูรูระดับโลก แนะวิธีเพิ่มศักยภาพโลจิสติกส์ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในงาน TILOG-LOGISTIX

30 สิงหาคม 2562

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับโลก เจาะลึกสถานการณ์และทิศทางโลจิสติกส์ ในงาน Trade Logistics Symposium 2019

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับโลก เจาะลึกสถานการณ์และทิศทางโลจิสติกส์ ในงาน Trade Logistics Symposium 2019

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ ได้จัดงาน Symposium ภายในงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ (TILOG-LOGISTIX) ต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้จัดในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ไบเทค บางนา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านธุรกิจบริการโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างวิทยากรผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และมีบทบาทสำคัญในวงการโลจิสติกส์การค้าจากประเทศต่างๆ กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมธุรกิจของไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาบุคลากรในสายงานโลจิสติกส์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีวิสัยทัศน์ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและยกระดับการบริการสู่มาตรฐานสากล

"Trade Logistics Symposium 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Transform and Collaborate towards Greater Success หรือการพลิกโฉมองค์กรและทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวงการโลจิสติกส์เกิดความร่วมมือกัน และมีความรู้ความเข้าใจว่า Disruptive Technology ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคืออะไร และจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพลิกโฉมองค์กรให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน และทิศทางแนวโน้มของอุตสาหกรรมธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคต" นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว

Symposium ปีนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มาร่วมบรรยาย 6 ท่าน ได้แก่ "นายเอ็ดวิน ฟาน โพเอลเจอร์" รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานสารสนเทศ ลินฟอกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย บรรยายเรื่อง การใช้ประโยชน์จาก IoT เพื่อนำเสนอข้อมูลที่มีความก้าวหน้าด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และสารสนเทศด้านมาตรฐานคุณภาพ (Leveraging IoT to deliver advanced transport and logistics data and quality benchmarking information)

โดยมีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับวิธีการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างนวัตกรรมและโชลูชันชั้นสูง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำงานของโซ่อุปทาน และช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวกปลอดภัยมากขึ้น

"นายคัทสึฮิโกะ อุเมะทสึ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ยามาโตะโฮลดิ้ง และประธาน ยามาโตะ โกลบอลโลจิสติกส์ ผู้ให้บริการจัดส่งอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในตลาดอาเซียนและตลาดเกิดใหม่ ในหัวข้อบรรยาย การขนส่งสินค้าข้ามแดนและตลาดเกิดใหม่: ความสำคัญและความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ (Cross-Border Logistics and Emerging Markets : its importance and intricacies in relation to e-Commerce) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านโลจิสติกส์ของสวิสล็อก เซาท์อีสต์ เอเชีย ผู้ให้บริการโซลูชั่นระบบอัตโนมัติชั้นนำของโลก

"นายดิกสัน โยว" มาให้ข้อมูลเรื่อง คลังสินค้าอัจฉริยะ: การเดินทางสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้โซลูชั่นหุ่นยนต์และการขับเคลื่อนข้อมูล (Smart Warehousing : Our Journey into Industry 4.0 using robotic & data driven solutions) โดยเปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบคลังสินค้าเพื่อทำให้เป็นคลังสินค้าอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความซับซ้อนในโซ่อุปทาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก "นายฌอน คูลีย์" บรรยายเกี่ยวกับ โซ่อุปทานในอนาคต : ระบบอัตโนมัติ การตอบสนองความเป็นส่วนตัว การตอบสนองความเป็นท้องถิ่น (The Future Supply Chain: Automated, Personalised, Localised) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทาน และการเลือกลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาระบบโซ่อุปทาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คน

กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็ม พาวเวอร์ แอสโซซิเอตส์ และประธานคณะกรรมการโลจิสติกส์ หอการค้าอังกฤษในฮ่องกง “นายมาร์ค มิลลาร์” มาแบ่งปันความรู้ด้าน ระบบนิเวศโซ่อุปทานกับการทำงานร่วมกัน (Supply Chain Ecosystems: Collaboration) แนะแนวทางการพัฒนากลุยทธ์โซ่อุปทานเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น และชี้ให้เห็นแง่มุมที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศโซ่อุปทานของโลก เพื่อให้ธุรกิจสามารถทำงานร่วมกัน เติบโตไปด้วยกัน และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

"นางสาวอปรรณา สักเซนา" หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนส่ง ลาซาด้า อีโลจิสติกส์ อินโดนีเซีย บรรยายเรื่อง การจัดส่งที่รวดเร็ว: ควรจะเร็วเท่าไรและทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร (Fast delivery: How fast does it need to be and where is it headed) กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในธุรกิจจัดส่งสินค้า ซึ่งนอกจากการส่งมอบที่ตรงเวลาแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องคำนึงถึง

"นับเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการที่ได้มาเรียนรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีข้อมูลเชิงลึกและมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานมานานหลายทศวรรษ ซึ่งกรมฯ หวังว่าผู้ร่วมงานจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และแข่งขันได้ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก" นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวในตอนท้าย