posttoday

เริ่มแล้ว! สรรหา “กรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ชุดใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบสุขภาพ

07 สิงหาคม 2562

 

 

“ทุกวันนี้คนไข้ล้นโรงพยาบาล ต้องไปจองคิวตั้งแต่ตีสี่ กว่าจะตรวจเสร็จต้องใช้เวลาไปทั้งวัน เมื่อเจ็บป่วยแล้วจึงรักษา คงแก้ปัญหาเช่นนี้ได้ยาก แต่ถ้าทุกคนรู้จักป้องกัน ดูแลตนเองและครอบครัว ชุมชนร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้สร้างพิษภัยต่อสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น บุหรี่ เหล้า การเจ็บป่วยหรือความรุนแรงของการเจ็บป่วยย่อมลดลง เกิดสุขภาวะของครอบครัว ชุมชน สังคมมากขึ้น

ดังนั้น หลักการ ‘สร้าง นำ ซ่อม’ จึงเป็นแนวคิดสำคัญของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งนิยามสุขภาพในหลายมิติทั้ง กาย ใจ สังคม ปัญญา” เป็นคำกล่าวของ รศ.ทนพ.สมชาย วิริยะยุทธกร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชุดปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 6 ธันวาคม 2562 นี้แล้ว คณะกรรมการสรรหาฯ จึงได้เริ่มดำเนินกระบวนการสรรหา โดยเฉพาะในกลุ่มกรรมการที่กฎหมายกำหนดให้ได้มาจากการเลือกกันเอง 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มผู้แทนองค์กรภาคเอกชน และกลุ่มผู้แทนองคกรปกครองส่วนท้องถิ่น
เป้าหมายหลักในการทำงานของ “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” คือ การเชื่อมประสานให้เกิดกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมและทำงานแบบข้ามภาคส่วน ดังนั้น ความท้าทายของกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือ “การมีส่วนร่วม”

“องค์ประกอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมาจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการวิชาชีพ และภาคประชาสังคม ดังนั้นการสรรหาจึงจำเป็นต้องเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในบทบาทของกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพราะสุขภาพไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องของบุคลากรทางสุขภาพเท่านั้น การทำใดๆ ก็ตามย่อมมีผลกระทบทางสุขภาพถึงประชาชนด้วย ไม่ว่าจะสร้างถนน สร้างเมืองอุตสาหกรรม ใช้สารเคมีทางการเกษตร หรืออื่นๆ ดังนั้น “ทุกนโยบายจึงต้องห่วงใยสุขภาพ” ด้วย

รศ.ทนพ.สมชาย กล่าว และ ต่อว่า ในปี ๒๕๖๒ คณะกรรมการสรรหาฯ เห็นควรให้พัฒนาระบบการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนที่มาจากการคัดเลือกกันเองในกลุ่มของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเป็นปีแรกที่เริ่มใช้กระบวนการสรรหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดกระบวนการ หรือเรียกว่า E-Voting
“รูปแบบเดิมที่ใช้ระบบรับสมัครและลงคะแนนด้วยกระดาษ แม้จะทำกันมานาน แต่ขณะนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแล้ว ความรวดเร็ว สะดวก โปร่งใสของระบบมีมากขึ้น ขณะที่ราคาต้นทุนก็ลดลง คณะกรรมการสรรหาฯ จึงเห็นร่วมกันว่าการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย ไม่เพียงจะช่วยลดความยุ่งยากของผู้สมัครในเตรียมการ ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าร่วมกระบวนการทั้งในจังหวัดและมาที่ส่วนกลาง ยังจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้กระดาษจำนวนมาก และเป็นการลงทุนสร้างระบบครั้งเดียวที่ใช้ได้ระยะยาว จึงช่วยลดงบประมาณในการจัดการด้วย เราจึงตัดสินใจร่วมกันนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตลอดกระบวนการสรรหา ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมของการสรรหากรรมการระดับชาติชุดแรกๆ ของสังคมไทย”
แน่นอน เสียงสะท้อนถึงความไม่มั่นใจในระบบที่จะทดลองใช้ครั้งแรกย่อมต้องมี

“ทุกคนอาจจะมองว่ายาก กรรมการหลายท่านกังวลว่าไม่เห็นหน้าเห็นตากัน ซับซ้อน คนมีอายุ คนพิการอาจลำบาก ทางคณะกรรมการสรรหาฯ จึงได้เตรียมการแก้ไขปัญหาโดยการตั้งหน่วยช่วยเหลือให้คำปรึกษา โดยฝ่ายเลขานุการฯ พร้อมจะให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจทุกคน โดยสามารถโทรศัพท์สอบถาม หรือจะส่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาได้” รศ.ทนพ.สมชาย กล่าว

กระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่ เว็บไซต์ “การสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งแบบอิเล็กทรอนิกส์” https://nhc.nationalhealth.or.th โดยเปิดรับสมัครกรรมการสุขภาพแห่งชาติใน ๒ กลุ่มแรกคือ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้แทนองคกรภาคเอกชนอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันนี้ โดยระบบจะปิดรับใบสมัครเวลา 16:30 น.ของวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ผู้ที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ระบบ E-Voting สามารถโทรสอบถามได้ที่ 02-832-9023-4 หรืออีเมล [email protected] สำหรับกลุ่มผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสรรหาฯ จะกำหนดวัน-เวลาเปิดรับสมัครต่อไป

“ผมอยากชวนให้ทุกคนมาช่วยกัน บ้านเมืองนี้มีปัญหาเยอะ แต่เราก็มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพมีความสามารถ หากท่านสละเวลามาช่วย อย่างน้อยก็จะทำให้สุขภาพของเราและลูกหลานดีขึ้นในอนาคต และจะส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจด้วย ถ้าประชาชนมีสุขภาพดี ทำงานได้ดี มีคุณภาพชีวิต ไม่สามวันดีสี่วันไข้ ก็ย่อมส่งผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม” รศ.ทนพ.สมชาย กล่าวปิดท้าย

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

1. ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือสุขภาวะ
2. พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วมทั้งระดับชาติและพื้นที่ รวมถึงรายประเด็น
3. เชื่อมการทำงานข้ามภาคส่วน เน้นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสมานฉันท์
4. เสนอนโยบายการจัดการระบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน

คุณสมบัติผู้สมัครเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ

1. ไม่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข
2. มีประสบการณ์และผลงานทางวิชาการการพัฒนาด้านต่างๆ มาไม่น้อยกว่า 10 ปี
3. เลือกสมัครในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่
(1) กลุ่มบริหาร นโยบายสาธารณะ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์
(2) กลุ่มธุรกิจ บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์
(3) กลุ่มการศึกษา การจัดการความรู้
(4) กลุ่มสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ
(5) กลุ่มพัฒนาประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
(6) กลุ่มพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น

คุณสมบัติผู้สมัครเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มผู้แทนองค์กรภาคเอกชน

ผู้สมัครต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีที่ตั้งองค์กรและดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ขอขึ้นทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี จะเป็นองค์กรนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ โดยต้องแจ้งขอขึ้นทะเบียนองค์กรในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนี้

1. กลุ่มองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิก
2. กลุ่มองค์กรที่ดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข
3. กลุ่มองค์กรที่ดำเนินงานด้านอาสาสมัคร จิตอาสา หรือรณรงค์เผยแพร่
4. กลุ่มองค์กรชุมชนที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ชุมชน
5. กลุ่มองค์กรชุมชนที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชน สังคม นโยบายสาธารณะ การศึกษา ศาสนา
6. พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ ในเชิงประเด็น

เริ่มแล้ว! สรรหา “กรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ชุดใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบสุขภาพ

เริ่มแล้ว! สรรหา “กรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ชุดใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบสุขภาพ

เริ่มแล้ว! สรรหา “กรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ชุดใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบสุขภาพ