posttoday

นักวิจัย มทร.ธัญบุรี พัฒนาเส้นใยกล้วย ต่อยอด สร้างอัตลักษณ์ผ้า เกษตรกร จังหวัดปทุมธานี

27 กรกฎาคม 2562

โครงการพัฒนาเส้นใยกล้วย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ จังหวัดปทุมธานี (โครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ณ กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน)

 

นักวิจัย มทร.ธัญบุรี พัฒนาเส้นใยกล้วย ต่อยอด สร้างอัตลักษณ์ผ้า เกษตรกร จังหวัดปทุมธานี

นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิด โครงการพัฒนาเส้นใยกล้วย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ จังหวัดปทุมธานี (โครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ณ กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน) โดยมี ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร นำทีมอาจารย์ประจำสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ “เส้นใยกล้วย” ต่อยอดสู่ผืนผ้า สร้างอัตลักษณ์ให้จังหวัดปทุมธานี ให้กับกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ณ ศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โดยเป็นการต่อยอดโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่องนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ภายใต้ชื่อ โครงการ การพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม:เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ จังหวัดปทุมธานี

นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เผยว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มทางการเกษตร นำวัสดุเกลือใช้ ในพื้นที่มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน หรือมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นซึ่งอาจต่อยอดเป็นสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้า OTOP สร้างรายได้ในอนาคต ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นกล้วย พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี

นักวิจัย มทร.ธัญบุรี พัฒนาเส้นใยกล้วย ต่อยอด สร้างอัตลักษณ์ผ้า เกษตรกร จังหวัดปทุมธานี

นายวีระชาติ สมบูรณ์วิทย์ พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี เล่าว่า จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ปลูกกล้วยมากกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ต้นกล้วยหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรจะตัดทิ้ง เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกรอบใหม่ โดยมีปริมาณมากกว่า 30,000 ต้นต่อปี เป็นเพียงแค่เป็นปุ๋ยบนดิน หากมีการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งมาทำให้เกิดประโยชน์ ในส่วนของกาบและก้านใบของกล้วยน่าจะมีประโยชน์ โดยจากการศึกษาหาข้อมูล ทาง มทร.ธัญบุรี มีงานวิจัยในการพัฒนาเส้นใยจากกล้วย จึงได้ขอความอนุเคราะห์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มและคณะเป็นวิทยากรหลักของโครงการมาถ่ายทอดองค์ความรู้ และได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และพระมหาไพบูลย์ ฐิตะธัมโม เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย อนุญาตให้ใช้อาคารศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าจากต้นกล้วย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

?ทางด้าน ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร อาจารย์จากสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม วิทยากรหลักโครงการ เล่าว่า งานวิจัยการพัฒนาเส้นใยกล้วย นำกาบและก้านในกล้วยมาปั่นเป็นเส้นด้าย ซึ่งเส้นใยกล้วย มีคุณสมบัติเด่นในด้านความแข็งแรง และเงามันสามารถขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย ยังสามารถนำมาต่อยอดทอเป็นผืนผ้าและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ ถือเป็นการลดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกล้วย และสร้างมูลค่าด้านการพัฒนาเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้แก่เกษตรกร ลดการนำเส้นใยธรรมชาติ จากต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทางเลือกใช้ผ้าจากเส้นใยกล้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มในการผลิตเสื้อผ้า Eco-friendly เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋าถือ หมวก และรองเท้า สามารถเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ จึงนำงานวิจัยมาถ่ายทอดและต่อยอดให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ และสร้างความเป็นอัตลักษณ์ผ้าจากเส้นใยกล้วยของจังหวัดปทุมธานี โดยทำการถ่ายทอดองค์ความรู้และอบรมให้กลุ่มอาชีพการพัฒนาเส้นใยกล้วย กลุ่มเป้าหมาย 30 คน จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 การแยกเส้นใยกล้วย หลักสูตรที่ 2 การปั่นเส้นด้ายด้วยใยกล้วย หลักสูตรที่ 3 การทอผ้าใยกล้วย และหลักสูตรที่ 4 การตัดเย็บ ผลิตลายผ้าและการย้อม ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในครั้งนี้ เกษตรกรนำไปต่อยอดผลิตผ้าจากเส้นใยกล้วย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจังหวัดปทุมธานีต่อไป

นักวิจัย มทร.ธัญบุรี พัฒนาเส้นใยกล้วย ต่อยอด สร้างอัตลักษณ์ผ้า เกษตรกร จังหวัดปทุมธานี