posttoday

“นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน

25 กรกฎาคม 2562

รัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 25-30ส.ค. 62 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร

รัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 25-30ส.ค. 62 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร

การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๔๐ (The 40th General Assembly the ASEAN Inter –Parliamentary Assembly) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-30  สิงหาคม 62  ณ โรงแรม แชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน (Advancing Parliamentary Partnership for Sustainable Community)” โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน เป็นประธานการประชุม

สมัชชารัฐสภาอาเซียนมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ในภูมิภาค รวมถึงรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในภูมิภาค เป็นแกนกลางของความร่วมมือระหว่างประเทศ และในด้านสังคมและวัฒนธรรม ก็ยึดมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

สมัชชารัฐสภาอาเซียน ในฐานะองค์กรนิติบัญญัติของอาเซียน ต้องการการสนับสนุน อย่างเข้มแข็งจากภาคประชาชน เพราะรัฐสภาที่แข็งแกร่งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงของประชาธิปไตย ดังนั้น หากรัฐสภาสามารถดำเนินงานด้วยความน่าเชื่อถือ น่าเคารพนับถือ และมีความซื่อสัตย์ ก็จะสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน การที่อาเซียนจะเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีประชาชนเป็นเป้าหมายได้อย่างแท้จริงนั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วย ความพยายามของทุกฝ่าย ในการผลักดันความยุติธรรมและหลักนิติธรรมในสังคม ซึ่งผู้แทนปวงชน จะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนและประชาคมอาเซียน ได้เป็นอย่างดี

ในการหารือระหว่างผู้นำสมัชชารัฐสภาอาเซียนและผู้นำอาเซียน ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ กรุงเทพฯ นั้น สมัชชารัฐสภาอาเซียนได้เสนอประเด็นหลักของภูมิภาคต่อผู้นำอาเซียน ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรักษาสิ่งแวดล้อม
2. การลดช่องว่างการพัฒนาของรัฐสมาชิกอาเซียน
3. การเสริมสร้างบทบาทสตรีและความเสมอภาคทางเพศ
4. การก่อการร้ายและความรุนแรงอย่างสุดโต่ง
5. การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔
6. ระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้และความมั่นคงทางทะเล
7. ความเชื่อมโยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน อาหารและน้ำในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
8. ยาเสพติดและการค้ามนุษย์
9. การเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคในระดับรากหญ้าในการบริหารจัดการและคุ้มครอง มรดกทางวัฒนธรรม

ในการนี้ผู้นำอาเซียนได้ตอบรับข้อเสนอของสมัชชารัฐสภาอาเซียน เนื่องจากประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกันโดยตรง ซึ่งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ความสำเร็จประการหนึ่งของอาเซียนคือ การเป็นต้นแบบของการรวมตัว ในภูมิภาค อันเนื่องมาจากความยืดหยุ่นในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การหาข้อยุติในประเด็นท้าทายต่าง ๆ อย่างฉันท์มิตร รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับรากหญ้าได้แสดงบทบาทของตนในการขับเคลื่อนอาเซียน สมัชชารัฐสภาอาเซียนจึงมุ่งมั่นขับเคลื่อนวิสัยทัศน์อาเซียน ๒๐๒๕ ให้บังเกิดผล เพราะความสำเร็จของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง อีกทั้งอาเซียนมีประชามากกว่า ๖๓๐ ล้านคน อาเซียนจึงเป็นภูมิภาคที่สำคัญของโลก ดังนั้น จึงควรมีการประชุมหารือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน อย่างใกล้ชิด นำมิติรัฐสภามาร่วมขับเคลื่อนอาเซียน ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชน ให้อาเซียน ยังประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประชาชนโดยส่วนรวม เพื่อให้อาเซียนก้าวไปสู่ประชาคมหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์

รัฐสภาไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนมาแล้ว ๕ ครั้ง และประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่นำมาสู่ความเข้มแข็งของอาเซียนในปัจจุบัน โดยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และ พ.ศ. ๒๕๒๗ รัฐสภาไทยได้ผลักดันการแก้ไขปัญหากัมพูชา การเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ รัฐสภาไทยได้ผลักดันการสร้างสันติภาพในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ส่งเสริมบทบาทของสมัชชารัฐสภาอาเซียนในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เขตการค้าเสรีอาเซียนด้วย ในวาระการเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ รัฐสภาไทยได้นำปัญหา และความท้าทายต่างๆ ภายในภูมิภาคในบริบทของโลกาภิวัฒน์มาหารือร่วมกับสมาชิกสมัชชารัฐสภาอาเซียน เพื่อเปลี่ยนวิกฤตของภูมิภาคในขณะนั้น ให้เป็นโอกาสแห่งความมั่งคั่ง รุ่งเรือง และจรรโลงเสถียรภาพ สันติภาพ และความมั่นคงของอาเซียนในทุกมิติให้มีความยั่งยืน ในการเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ รัฐสภาไทยได้นำเสนอปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในภูมิภาค ซึ่งปรัชญาดังกล่าวเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมได้ทุกระดับชั้น และประเทศต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมได้โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

โดยการประชุมใหญ่ ฯ ในแต่ละครั้ง จะมีการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาภูมิภาคมุ่งสู่การปรับยุทธศาสตร์และบทบาทของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ให้เข้ากับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นสถาบันนิติบัญญัติในภูมิภาค ที่เข้าถึงและสะท้อนความต้องการของประชาชน ผ่านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สมัชชารัฐสภาอาเซียน ส่งเสริมการสร้างความสอดคล้อง ทางกฎหมายในประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพันธกรณีของอาเซียน กระตุ้นให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศสมาชิก นำข้อมติจากการประชุมสมัชชาใหญ่ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนจะก้าวเดินไปข้างหน้าในฐานะหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนในการร่วมกันสนับสนุนพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของประชาคมอาเซียน และสร้างความร่วมมือผ่านกรอบการประชุมระหว่างคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน (AIPA – ASEAN Interface Meeting) ซึ่งเป็นการหารือในระดับสูงสุดของอาเซียน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

“นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน

สำหรับหัวข้อการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๔๐ ได้แก่

๑. สนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีในอาเซียน
๒. รายงานการหารือระหว่างคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔
๓. การส่งเสริมการทูตรัฐสภาในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน
๔. การสนับสนุนการพัฒนาอย่างเท่าเทียมในอาเซียน
๕. การส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนเพื่อเตรียมการสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔
๖. รายงานการประชุมคณะมนตรีที่ปรึกษาของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยยาเสพติดอันตราย ครั้งที่ ๒
๗. การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและความปลอดภัยทางถนนในอาเซียน
๘. การรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎหมายในกลุ่มอาเซียน

นอกจากนั้น สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะประชุมหารือกับประเทศผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา เบลารุส สาธารณรัฐประชาชนจีน สภายุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ ปาปัวนิกินี สหพันธ์รัฐรัสเซีย และติมอร์-เลสเต ในหัวข้อหุ้นส่วนความร่วมมือด้านแนวปฏิบัติที่ดี ด้านกฎระเบียบ

และในวันสุดท้ายของการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในฐานะประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน จะส่งมอบตำแหน่งประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ให้แก่ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ นอกจากนั้น ในวาระนี้ นายอิสรา สุนทรวัฒน์ เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง และจะส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ให้แก่ เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕

“นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน