posttoday

อธิบดี สถ. เปิดศูนย์ดูแลผู้พิการ-ผู้สูงอายุ วัดพระศรีอารย์ จ.ราชบุรี

19 กรกฎาคม 2562

 

 

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.62 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน และศูนย์เรียนรู้เพื่อการฟื้นฟูคนพิการวัดพระศรีอารย์ พร้อมมอบตัวอย่างถังขยะเปียกครัวเรือนให้กับผู้แทนชุมชน ในโอกาสนี้ พระครูวิทิต พัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์กล นางปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายแพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน รองผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข นายชาติชาย ไชยพิมล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดราชบุรี นายนพรัตน์ รัตนพานิช นายอำเภอโพธาราม นายอนุสรณ์ ดาราพาณิชย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเลือก นายนิคม หอมทรัพย์ นายกสมาคมผู้สูงอายุและคลังปัญญาจังหวัดราชบุรี เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ วัดพระศรีอารย์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จากนั้น ไปยังโรงเรียนวัดพระศรีอารย์ (ขันธราษฎร์บำรุง) เปิดผ้าแพรป้ายโรงเรียนวัดพระศรีอารย์ (ขันธราษฎร์บำรุง) พร้อมชมกิจกรรมในโรงเรียน ประกอบด้วย การคัดแยกขยะเปียกในโรงเรียนวัดพระศรีอารย์ (ขันธราษฎร์บำรุง) การเพาะเห็นภูฏานในโรงเรือนเพาะเห็ด การทำนาโดยการสนับสนุนของศูนย์การเรียนรู้ฯ วัดพระศรีอารย์ และการทำการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรภายในโรงเรียนตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง

อธิบดี สถ. เปิดศูนย์ดูแลผู้พิการ-ผู้สูงอายุ วัดพระศรีอารย์ จ.ราชบุรี

สำหรับการจัดตั้ง ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน เป็นผลจากความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ประสานงานภาคีจังหวัดราชบุรีร่วมกับวัดพระศรีอารย์ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ ขณะที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อการฟื้นฟูคนพิการวัดพระศรีอารย์ จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูคนทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ และพระสงฆ์ ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจเกิดความอบอุ่นในครอบครัวและสร้างความมั่นคงของครอบครัวในชุมชน

อธิบดี สถ. ได้กล่าวชื่นชม และแสดงความยินดีกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ทั้ง 2 ศูนย์ในวัดพระศรีอารย์ได้อย่างประสบความสำเร็จ เหมาะสมจะเป็นสถานที่บุคคลทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้สำหรับการดูแลผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ ได้อย่างถูกต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว ทั้งยังถือโอกาสย้ำถึงบทบาทของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ได้มีการดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับเบี้ย และการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำชมรมผู้สูงอายุ (2,635 แห่ง) โรงเรียนผู้สูงอายุ (1,338 แห่ง) และศูนย์บริการข้อมูลให้แก่ผู้สูงอายุ (1,755 แห่ง)

อธิบดี สถ. เปิดศูนย์ดูแลผู้พิการ-ผู้สูงอายุ วัดพระศรีอารย์ จ.ราชบุรี

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังได้รับมอบหมาย จากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปสังคม ให้รับผิดชอบในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสู่การเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Aged Friendly Communities) ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก จึงได้มีการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดทำ ทางลาด (4,017 แห่ง) ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ (3,648 แห่ง) ป้ายและสัญลักษณ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ (3,364 แห่ง) ที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ (2,705 แห่ง) และศูนย์บริการผู้สูงอายุ และผู้พิการ (3,589 แห่ง) เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการและคนทุกวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ได้มีองค์กรปกครองส่วนท้องดำเนินการตามมาตรการที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุครบตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลกจำนวนทั้งสิ้น 2,716 แห่ง และขอเรียนว่า กรมฯ จะมุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและผู้พิการต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนในท้องถิ่นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป

อธิบดี สถ. ยังได้ฝากถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายเรื่อง เช่น ขอให้ร่วมกันจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน ที่เป็นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางหรือครัวเรือน โดยการคัดแยกขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติได้เป็นอย่างดี และยังสามารถ ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐ และลดมลพิษและแหล่งเพาะพันธุ์ของพาหนะนำโรคต่างๆ ได้ หรือโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น “สนามเด็กเล่น สร้างปัญญา” ที่ กรมฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ในการดำเนินโครงการ โดยมีนายดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยมีแนวคิดในการจัดรูปแบบสถานที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เด็กปฐมวัยผ่านการเล่น มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ตามวัสดุที่มีในธรรมชาติ ได้แก่ ทราย น้ำ ต้นไม้ รวมทั้งวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่ ให้สนามเด็กเล่น สร้างปัญญา นี้ เป็นสถานที่ที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุ 2-5 ปี ให้มีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา นอกจากนี้ ได้ย้ำถึงมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวัน เพื่อป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน และผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของเด็กเยาวชนและประชาชนในท้องถิ่น โดยขอให้ทั้งผู้บริหาร อปท. เครือข่ายผู้ปกครอง ช่วยกันดูแล โดยติดตาม ตรวจสอบกระบวนการต่างของการจัดอาหารกลางวันของสถานศึกษาในสังกัดอย่างใกล้ชิด และพิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch : TSL) มาใช้ในสถานศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าโปรแกรมอาหารกลางวันที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนนั้นมีสารอาหารที่เหมาะสมต่อลูกหลานเรา

อธิบดี สถ. เปิดศูนย์ดูแลผู้พิการ-ผู้สูงอายุ วัดพระศรีอารย์ จ.ราชบุรี

อธิบดี สถ. ยังได้กล่าวถึง โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น การดำเนินโครงการสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมประสานพลังความสามัคคีโดยการรวมพลังจิตอาสา ร่วมแรงร่วมใจกันทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยน้อมนำแนวพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางการดำเนินการ เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างสภาพแวดล้อมสีเขียว ที่เปรียบเสมือนปอดของชุมชน ให้ประชาชนได้มีสถานที่สำหรับทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย , โครงการสานพลังท้องถิ่นไทยถวายพ่อของแผ่นดิน เดิน-วิ่ง มินิฮาล์ฟมาราธอน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อจะนำเงินรายได้จากค่าสมัครโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ไปจัดตั้งกองทุนการศึกษาบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ในมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ประพฤติดีมีฐานะยากจนจากท้องถิ่นทั่วประเทศให้มีโอกาสรับการศึกษา และโครงการธารน้ำใจท้องถิ่นไทยเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้ต้องขัง เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกัน สร้างการเข้าถึงโอกาสที่จะได้รับการสงเคราะห์ด้านคุณภาพชีวิต รวมทั้งความสุขทางจิตใจให้แก่ผู้ต้องขังด้วย ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อยกระดับให้พี่น้องประชาชนทุกคนในท้องถิ่นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปนั่นเอง