posttoday

นิติศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนนิสิต นำความรู้กฎหมาย ช่วยเหลือสังคม

12 มิถุนายน 2562

“ชำนาญนิติวิชา งามสง่าด้วยคุณธรรม นำไทยในสากล อุทิศตนเพื่อสังคม” คำขวัญของ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“ชำนาญนิติวิชา งามสง่าด้วยคุณธรรม นำไทยในสากล อุทิศตนเพื่อสังคม” คำขวัญของ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของบัณฑิตในคณะฯ ที่ต้องมีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ มีคุณธรรม พร้อมช่วยเหลือสังคม  

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า “คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้วางเป้าหมายจะผลิตบัณฑิต ให้เป็นนักกฎหมายที่สามารถโลดแล่นในแวดวงนิติศาสตร์ระดับโลก บนพื้นฐานรากเหง้าความเป็นไทย (Glocal Lawyer) ดังนั้นนิสิตไม่เพียงจะเรียนรู้วิชาการด้านกฎหมายในห้องเรียนแล้ว แต่ยังต้องรู้จักสังคมรวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย คณะฯ จึงได้มีแนวคิดเรื่องของการปลูกจิตสำนึก จิตสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม สอดแทรกอยู่ในหลักสูตรวิชาการ กิจกรรมเสริมนอกหลักสูตร และกิจกรรมของนิสิตเอง โดยคณะฯ เล็งเห็นว่า การมีจิตสำนึกเพื่อสังคมเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรมีในฐานะการเป็นพลเมืองของสังคม

ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่คณะฯ สนับสนุนให้นิสิตได้ทำ จะช่วยเตรียมความพร้อม เพราะเมื่อศึกษาจบเป็นบัณฑิตออกไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง อย่างน้อยพวกเขายังเข้าใจพื้นฐานของสังคม และพร้อมนำความรู้ด้านนิติศาสตร์มาพัฒนาสังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ”

นิติศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนนิสิต นำความรู้กฎหมาย ช่วยเหลือสังคม

เหล่านิสิตที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในโครงการต่างๆ ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ อย่าง จัวรอง โจว บัณฑิตใหม่ ตัวแทนนิสิตจากโครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพง ชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ เผยว่า “โครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพงเป็นการจัดร่วมกันกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งผลักดันเกี่ยวกับมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง โดยริเริ่มมาจากการที่ ผู้บัญชาการเรือนจำอยากให้นิสิตได้เรียนรู้กฎหมายในเรือนจำและมอบความรู้ให้กับพี่ๆ ผู้ต้องขัง ซึ่งผลตอบรับดีมากๆ เกินกว่าที่เราคิดไว้ พี่ๆ ผู้ต้องขังหญิงพร้อมที่จะให้(ข้อมูล)และรับ(ความรู้ด้านกฎหมาย) จากเรา ทำให้เรารู้สึกว่า ความรู้ที่เรามีสามารถช่วยเหลือพี่ๆ ผู้ต้องขังหญิงในกระบวนการยุติธรรมได้จริง  สิ่งที่ได้รับกลับมาจากโครงการนี้เหนือความคาดหมายมากๆ เป็นโลกใหม่ที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยสัมผัส ทำให้เราเห็นภาพขยายขบวนการความคิดมากขึ้น เกิดความลึกซึ้งกับคำว่า กฎหมายยิ่งขึ้น กฎหมายเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนที่อยู่ในเรือนจำ สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคน ไม่ใช่แค่เรื่องคนกับกฎหมาย แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเป็นคนความเป็นมนุษย์อีกด้วย”  

วชิรญาณ์ มานะศิลป์ บัณฑิตใหม่ ชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ เสริมว่า “พี่ๆ อยากให้พวกเราเข้าไปช่วยพวกเขาอีกในทุกๆ ปี  สิ่งที่เราได้รับกลับมามากกว่าภูมิใจและอิ่มเอมใจ เพราะเราเป็นนิสิตที่เรียนกฎหมาย เราได้ใช้สิ่งที่เราเรียนตอบแทนให้กับคนที่อยู่ปลายความยุติธรรม ตอนเรียนเราไม่เคยมองเห็นกลุ่มนี้ เรารู้แต่ว่า เขาทำผิดต้องเข้าคุก แต่ไม่เคยคิดหลังจากนั้นจะต้องทำอะไรต่อ ต้องช่วยปรับสิ่งต่างๆ ของเขาให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมให้ได้อีกครั้ง ซึ่งพอเราได้

ให้สิ่งที่เรามี คือ ความรู้กฎหมายกับพี่ๆ เขา เป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถเรียนรู้จากคนอื่นได้นอกจากทนายของเขาและสิ่งนั้นมีประโยชน์จริงๆ ทำให้ได้รู้ว่าการออกกฎหมายมาแล้ว บางทีเราก็จะลืมคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม และทำให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น บางครั้งก็เป็นปัญหาของกฎหมาย แต่บางครั้งก็เป็นปัญหาสังคม เพราะความไม่มีกฎหมาย เป็นการมอง 2 มุมได้เช่นกัน”

ภัทราภรณ์  ภัทรพิบูล นิสิตขึ้นชั้นปี 3  ตัวแทนจากกิจกรรม ALSA Chula Legal English Camp เผยว่า “ALSA เป็นกิจกรรมที่ให้นิสิตได้เข้าไปสัมผัสกับปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ในปีที่ผ่านมา ALSA ได้ลงพื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในธีมบาลานซ์ (Balance) เป็นการสมดุลระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน, เศรษฐกิจ และท่าเรือ โรงงาน โดยปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราพบ คือ เรื่องของฝุ่นและการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ   การแก้ปัญหาในส่วนของชาวบ้าน เราต้องสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับชาวบ้านว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงเกิดจากไหน จากใคร ในส่วนของท่าเรือหรือโรงงานต้องตระหนักถึงปัญหา ความรับผิดชอบต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หรือจะเป็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 58  โดยมีภาครัฐช่วยกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย สำหรับสิ่งแวดล้อมต้องช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้กับทุกคน  ในพื้นที่นั้นๆ เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของทุกคนในชุมชน สิ่งที่ได้ คือ ได้รู้กฎหมายที่จับต้องได้ผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่จริงๆ เหมือนเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน  รู้จักทักษะในการสื่อสารทั้งกับชาวบ้านและการนำเสนอโดยใช้ภาษาอังกฤษ”

ณัฐวรา เศวตมาลย์ บัณฑิตใหม่ ที่ร่วม ค่ายอาสาพัฒนาชนบท เผยว่า “ได้ออกค่ายร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีการตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ชาวบ้าน รวมถึงให้ความรู้ในเรื่องของกฏหมายและสิทธิ์ต่างๆ ที่พวกเรามี เช่น หากเกิดอุบัติเหตุ แล้วไม่มีคู่กรณี ทำให้เราไม่สามารถไปทำงานได้ เราสามารถขอค่าชดเชยจากทางรัฐ หรือกฏหมายใกล้ตัวที่ชาวบ้านควรจะต้องรู้ เช่น สัญญาเงินกู้ต่างๆ ที่เราได้แนะนำว่า หากต้องทำสัญญา ให้ทำเป็นสัญญาจดจำนองดีกว่าการทำเป็นสัญญาขายฝาก ซึ่งพวกเราได้นำเสนอความรู้ด้านกฏหมายผ่านการเล่นละคร เพื่อให้ชาวบ้านจดจำรายละเอียดได้ง่าย นอกจากนี้ยังได้มีการแจกคู่มือกฎหมายให้กับชาวบ้านที่มาร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสนใจและร่วมในกิจกรรมกับพวกเรา

ก่อนเดินทางไปออกค่าย คิดว่าเราต้องไปเป็นผู้ให้ แต่เมื่อไปทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน จริงๆ แล้วเราก็ยังเป็นผู้รับอยู่ดี  เพราะเราได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ได้รับน้ำใจการแบ่งปันของชาวบ้าน ซึ่งเมื่อเราได้ลงพื้นที่จริง ทำให้รู้ว่าคู่มือกฏหมายที่เรานำไปแจกนั้น แม้ว่าจะจัดทำให้ง่ายต่อการเข้าใจในกฎหมาย แต่ก็ยังเป็นภาษากฏหมายที่เข้าใจยากอยู่ โดยคาดว่าครั้งต่อไปอาจทำเป็นการ์ตูน เพื่อให้น่าสนใจ และเข้าใจได้ง่ายขึ้น ช่วยให้คนทุกวัยสามารถรู้กฎหมาย รวมถึงอัพเดทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันใหม่ๆ เพิ่มเติม”

นิธินันท์ ลีธนะกุล นิสิตชั้นปีที่ 2 จาก โครงการบ่มเพาะวัฒนธรรมด้านนิติปฎิบัติการเพื่อนวัตวิถีและสังคม เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยสิงคโปร์และจีน ที่ได้เป็นตัวแทนนิสิตไทย เดินทางไปศึกษากระบวนการวัฒนธรรมการบริการสังคม เผยว่า “ได้ไปศึกษาศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนใน National University of Singapore และ Singapore Management University ดำเนินการโดยนักศึกษาในการให้คำแนะนำแก่ผู้ที่เข้ามาปรึกษา เช่น เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการการรักษาพยาบาล กระทั่งปัญหาครอบครัว การฟ้องร้องหย่าร้าง สิทธิ์ในการดูแลบุตร โดยที่นักศึกษาจะเป็นเหมือนด่านแรกที่ให้คำแนะนำ เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการดำเนินการของทนาย

นิติศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนนิสิต นำความรู้กฎหมาย ช่วยเหลือสังคม

นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสไปศึกษางานที่ Ren Min University ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่นี่มีชมรมที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่คนทั่วไปเช่นกัน แต่จะเป็นการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ อย่าง WeChat ซึ่งมีนักศึกษาอยู่ในชมรมนี้ถึง 300 คน และยังเป็นชมรมหนึ่งที่จะส่งนักศึกษาไปช่วยเหลืองานที่ศาล เช่น การหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือการจัดเรียงเอกสาร การจดบันทึก ที่จะต้องนำไปใช้ในชั้นศาล

ในขณะที่นักศึกษาจากสิงคโปร์ก็เดินทางมาศึกษาปัญหาสังคมที่ จ. น่าน ร่วมกับเราด้วย ที่น่านเป็นแหล่งความรู้ชั้นดีให้พวกเราได้เรียนรู้ เพราะเป็นพื้นที่ที่กฎหมายเข้ามามีบทบาทเยอะมาก อย่างเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านที่จะทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวน เมื่อเราได้เข้าไปศึกษาและระดมความคิดกันว่า ในลักษณะเช่นนี้จะสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างไร โดยอาจจะเป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ ให้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้ความรู้ในเรื่องการทำมาหากิน และประนีประนอม เช่น ฤดูกาลนี้สามารถปลูกได้ แต่ช่วงเวลานี้ห้าม รวมถึงดูเรื่องการจัดการกรรมสิทธิ์ในที่ดิน”