posttoday

เผยผลงานวิจัยทดลองวัคซีนเอดส์ในไทยสร้างองค์ความรู้ระดับโลก

20 พฤษภาคม 2562

นักวิจัยเผยผลงานวิจัยทดลอง “วัคซีนเอดส์” ในประเทศไทยสร้างองค์ความรู้ระดับโลกมีความก้าวหน้า

นักวิจัยเผยผลงานวิจัยทดลอง “วัคซีนเอดส์” ในประเทศไทยสร้างองค์ความรู้ระดับโลกมีความก้าวหน้า

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อเอชไอวีเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปี 2526 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่มีความพยายามศึกษา วิจัย และพัฒนายารักษาโรคเอดส์ ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามอย่างมากในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือวัคซีนเอดส์อย่างต่อเนื่องทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย สถาบันฯ ในฐานะหน่วยงานกลางเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศได้ติดตามการสร้างองค์ความรู้ด้านวัคซีนเอดส์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพร้อมพิจารณาให้การสนับสนุนในเรื่องนี้เพื่อช่วยกันหยุดยั้งมหันตภัยจากโรคร้ายนี้

นพ.ศุภชัย ฤกษ์งาม ที่ปรึกษาโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการศึกษาทดลองวัคซีนเอดส์กับหลายภาคส่วน ซึ่งผลการทดลองโครงการ RV144 ระยะที่สาม เมื่อปี 2552 ที่ได้ทำการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี 16,000 คน ได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันผู้ติดเชื้อให้สูงขึ้นได้และลดการติดเชื้อได้ร้อยละ 31.2 ผลการทดลองดังกล่าวทำให้โลกได้องค์ความรู้มากขึ้นและมีความหวังที่จะพัฒนาวัคซีนให้ได้ ทั้งนี้ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังคงเตรียมข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยในกลุ่มชายรักชายในพื้นที่จ.ราชบุรีและนครราชสีมา

ด้าน ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนเอดส์นั้น ยังอยู่ในกระบวนการวิจัย จากโครงการ RV144 เราได้มีการทำวิจัยต่อยอดในอาสาสมัครกลุ่มใหม่โดยการฉีดวัคซีนปูพื้นและวัคซีนกระตุ้น จากที่ให้วัคซีน 6 เข็มที่ 0, 1, 3 และ 6 เดือนโดยกระตุ้นซ้ำในช่วงเวลาที่แตกต่างกันที่ 12, 15 หรือ 18 เดือน พบว่า ถ้าเว้นระยะการฉีดวัคซีนจากเข็มที่ 6 เดือนไปฉีดกระตุ้นที่ 12, 15 หรือ 18 เดือน พบว่าการฉีดกระตุ้นที่ 15 หรือ 18 เดือนจะเกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้น

หัวหน้าศูนย์วัคซีน กล่าวอีกว่า ในระยะสองปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาวัคซีนปูพื้นโดยใช้เชื้อไวรัสอะดีโน 26 (Ad26) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ที่สอดใส่ชิ้นส่วนของเชื้อเอชไอวีหลายสายพันธุ์ที่พบบ่อยทั่วโลก (Mosaic Vaccine) และกระตุ้นด้วยสารสังเคราะห์เลียนแบบส่วนเปลือกของโปรตีนจีพี 140 ได้ผ่านการศึกษาในระยะที่หนึ่งและสองในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย โดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันวิจัยแพทย์ทหารบก ซึ่งขณะนี้กำลังทดสอบหาประสิทธิผลเบื้องต้นในแอฟริกา หากปลอดภัยและกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานได้ก็อาจจะนำมาสู่การทดสอบหาประสิทธิผลต่อสายพันธุ์อีในประเทศไทยต่อไป

ศ.พญ.พรรณี กล่าวด้วยว่า งานวิจัยของไทยนับว่า มีคุณค่าต่อการพัฒนาวัคซีนเอดส์ในระดับโลก หวังว่าผู้เกี่ยวข้องในประเทศจะให้ความสำคัญและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและต่อยอดต่อไปในทุกด้าน และขอขอบคุณอาสาสมัครที่เข้าร่วมในการศึกษาวัคซีนเอดส์ทุกท่าน เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน