posttoday

กรมหม่อนไหมเดินหน้าสานต่อโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมต่อยอดการตลาดสร้างแบรนด์สินค้า "รักษ์ไหม"

23 เมษายน 2562

ยกระดับมาตรฐานเส้นไหมไทย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-การแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ยกระดับมาตรฐานเส้นไหมไทย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-การแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

กรมหม่อนไหมมุ่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอัตลักษณ์ของ 84 หมู่บ้านภายใต้โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในพื้นที่ 21 จังหวัด พร้อมผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมของเกษตรกรไปสู่เยาวชนในสถานศึกษา

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า  กรมหม่อนไหมดำเนินโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯมาตั้งแต่ปี 2559  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9  เพื่อให้ไหมไทยพื้นบ้านคงอยู่อย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาการเลี้ยงไหมพันธุ์ไหมพื้นบ้านของเกษตรกรรายย่อยให้มีประสิทธิภาพ  เป็นแหล่งผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านที่มีคุณภาพมาตรฐาน สำหรับการนำไปผลิตผ้าไหมไทยภายใต้เครื่องหมายนกยูงพระราชทานสีทอง(Royal Thai Silk) ทั้งมุ่งให้ความรู้และฝึกทักษะอาชีพด้านหม่อนไหมให้แก่นักเรียนในโรงเรียนให้เป็นรายได้เสริม พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระกรุณาธิคุณด้านหม่อนไหม    โดยมีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ  จำนวน 84 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ และโรงเรียนในท้องถิ่น จำนวน8โรงเรียน ในพื้นที่ 21 จังหวัดได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร หนองคาย เลย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น มุกดาหาร นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุทัยธานี ราชบุรี  และนราธิวาส    ซึ่งกรมหม่อนไหมได้สำรวจและจัดทำทะเบียนหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน 84 หมู่บ้าน โดยเน้นพัฒนาคุณภาพการผลิตหม่อนไหม มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร  เริ่มตั้งแต่การจัดการแปลงหม่อนเพื่อเพิ่มผลผลิตใบ เช่น พัฒนาระบบน้ำในแปลงหม่อน หรือสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี เพื่อใช้บำรุงแปลงหม่อน รวมทั้งสร้างอัตลักษณ์ด้านหม่อนไหมประจำหมู่บ้าน(อัตลักษณด้านเส้นไหมและอัตลักษณ์ด้านลวดลายผ้าไหม) รวมทั้งสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน โดยมุ่งส่งเสริมการปลูกหม่อนพันธุ์ดีในโรงเรียน ที่อยู่ใกล้เคียงหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน 

กรมหม่อนไหมเดินหน้าสานต่อโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมต่อยอดการตลาดสร้างแบรนด์สินค้า "รักษ์ไหม"

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพไหมไทยพื้นบ้าน โดยส่งเสริมการเลี้ยงไหมในระดับครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ การฟอกย้อมสีเคมีและสีธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม การย้อมสีเส้นไหมด้วยคราม การผลิตครามก้อน การก่อหม้อครามและการย้อม  การพัฒนาเทคนิคการทอผ้าไหมมัดหมี่ให้มีประสิทธิภาพ การเก็บตะกอและออกแบบลายผ้ายกดอก  สนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพเส้นไหมไทยสู่มาตรฐาน เช่น การผลิตเส้นไหมไทยสาวมือตามมาตรฐานการปฏิบัติดีสำหรับการผลิตเส้นไหมดิบ เส้นไหมไทยสาวมือ เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณภาพตามไทยตามมาตรฐานเส้นไหมไทย (มกษ. 8000-2555) การจัดการระบบควบคุมภายในและการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานตามมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)  และมาตรฐานสัญลักษณ์ตรา"นกยูงพระราชทานสีทอง"  ที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน มีกระบวนการผลิตที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน  เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกรรวมถึงการออกแบบตราสัญลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์สินค้าไหมไทยภายใต้โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติ  ในชื่อแบรนด์"รักษ์ไหม"

"การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมหม่อนไหมเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมการปลูกหม่อนในโรงเรียน เพื่อเพิ่มทักษะอาชีพของนักเรียน โดยสนับสนุนปัจจัยการจัดกิจกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้าและการแปรรูปในโรงเรียน  รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านหม่อนไหมในโรงเรียน จำนวนอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาทักษะการฝึกอาชีพด้านหม่อนไหม

สำหรับปีนี้ กรมหม่อนไหม มุ่งต่อยอดงานโครงการหมู่บ้านไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ โดยเน้นพัฒนาการตลาดตามนโยบาย "ตลาดนำการผลิต" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหม่อนไหมเชิงอนุรักษ์ และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกรในอนาคต" อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

กรมหม่อนไหมเดินหน้าสานต่อโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมต่อยอดการตลาดสร้างแบรนด์สินค้า "รักษ์ไหม"