posttoday

อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ ชูโมเดล "หว้ากอไร้ถังขยะ" ปูพรมสำนักงานไร้ถังขยะต้นแบบ จ.ประจวบคีรีขันธ์

27 มีนาคม 2562

นายเบญจพล พาลี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้อกอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ เป็นสถานศึกษาในสังกัด สำนักงาน กศน.

 

นายเบญจพล พาลี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้อกอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ เป็นสถานศึกษาในสังกัด สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อวกาศ และสิ่งแวดล้อม ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนเยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ  ซึ่งนอกจากบทบาทด้านการศึกษาที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ ยังมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่นโครงการ "หว้ากอไร้ถังขยะ สู่ประจวบคีรีขันธ์ไร้ถังขยะ" ซึ่งโครงการดังกล่าว มีที่มาจากร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการขยะตามแนวทางมิติใหม่ของชุมชนไทยไร้ถัง โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ เป็นหน่วยงานสนับสนุนสำคัญของจังหวัดในการช่วยเผยแพร่ความรู้ไปสู่หน่วยงานราชการ โรงเรียน รวมทั้งในชุมชนในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้การจัดการขยะ ผ่านกระบวนการจัดการขยะแบบไร้ถังขยะเพื่อเป้าประสงค์ให้ขยะต่างๆ ไปถึงหลุมฝังกลบน้อยที่สุด โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) วัสดุย่อยสลายได้  เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เศษอาหาร วิธีการคือ ฝังกลบ นำไปเลี้ยงสัตว์  ทำปุ๋ยหมัก เผาถ่าน ทำน้ำหมักชีวภาพ เลี้ยงไส้เดือน และก๊าชชีวภาพ 2) วัสดุ รีไซเคิล เช่น พลาสติกทุกชนิด กระดาษ  โลหะ และเศษแก้ว  วิธีการคือ นำไปจำหน่าย หรือบริจาค  3) ขยะใช้ไม่ได้ ขยะส่วนนี้คือ สิ่งที่ไม่มีทางไป ควรใช้วิธีเก็บให้มิดชิด ส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ เทศบาลกำจัด (หลุมฝังกลบ) 4) ขยะเป็นพิษ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ยาหมดอายุ วิธีการคือ  เก็บให้มิดชิด ส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ เทศบาลอย่างปลอดภัย 5) ขยะติดเชื้อ เช่น เข็มฉีดยา พลาสเตอร์ยา วิธีการคือ เก็บให้มิดชิด ส่งมอบให้เทศบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลต่างๆ อย่างปลอดภัยต่อไป  ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ขณะนี้อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ ถือเป็นสำนักงานไร้ถังขยะที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้ขยายผลต่อยอดไปสู่การเกิดศาลากลางไร้ถังขยะ สำนักงานไร้ถังขยะ โรงเรียนไร้ถังขยะ และชุมชนไร้ถังขยะตามมาอย่างต่อเนื่องในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายเบญจพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือครั้งนี้ ทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ เกิดความสำเร็จ เป็นหน่วยงานจัดการขยะตามแนวทางมิติใหม่ชุมชนไทยไร้ถังขยะต้นแบบ โดยใช้หลักการวัฒนธรรมนำเทคโนโลยีการจัดการขยะในงานมหกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ หว้ากอ ครบรอบ 150 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา  นำมาเป็นต้นแบบของการจัดการขยะในงานต่างๆ ได้แก่ งานวันเด็กที่จัดโดยชุมชน งานกฐินตามวัดต่างๆ งานลอยกระทง ตลอดจนถนนคนเดิน ณ สะพานสราญวิถี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ ยังคงจะเดินหน้าขับเคลื่อนการเผยแพร่ความรู้ด้านการจัดการขยะ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 นี้ มีแนวทางการดำเนินงาน ในเชิงรุกขยายผลไปยังภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงาน กศน.จังหวัด กศน.อำเภอ เพื่อขยายองค์ความรู้สู่การพัฒนาชุมชน ตามเป้าประสงค์  "หว้ากอไร้ถังขยะ สู่ประจวบคีรีขันธ์ไร้ถังขยะ" อย่างยั่งยืนต่อไป

อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ ชูโมเดล "หว้ากอไร้ถังขยะ" ปูพรมสำนักงานไร้ถังขยะต้นแบบ จ.ประจวบคีรีขันธ์

อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ณ หว้ากอ ชูโมเดล "หว้ากอไร้ถังขยะ" ปูพรมสำนักงานไร้ถังขยะต้นแบบ จ.ประจวบคีรีขันธ์