posttoday

เอ็นอีเอ จัดโครงการ พีจีซี รุ่นที่ 3 ตามนโยบายเศรษฐกิจแบ่งปันให้ทุกกลุ่มเข้าถึงความรู้

26 มีนาคม 2562

 

 

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (เอ็นอีเอ) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันเอ็นอีเอได้จัดโครงการพัฒนาธุรกิจสู่การค้าระหว่างประเทศ (พีจีซี) รุ่นที่ 3 เพื่อช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพของไทย มีศักยภาพการแข่งขัน ตามนโยบายเศรษฐกิจแบ่งปัน ซึ่งเป็นการช่วยให้ประชาชนทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างทั่วถึงทั้งในส่วนของกรุงเทพฯและภูมิภาค โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจกว่า 1,250 รายทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ

สำหรับโครงการพีจีซีนั้นรอบแรกจะมีการคัดเลือกจาก 1,250 แผนธุรกิจให้เหลือ 200 แผนธุรกิจ รอบที่ 2 จะคัดเลือกให้เหลือ 10 แผนธุรกิจ เพื่อที่จะเข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 25 มิ.ย. 62 ก่อนที่จะประกาศผู้ชนะการเขียนแผนธุรกิจยอดเยี่ยมให้เหลือ 5 ราย ซึ่งผู้ชนะเลิศนอกจากจะได้รับรางวัลสนับสนุนการทำธุรกิจแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศด้วย

“ความคาดหวังจากโครงการนั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับแรงบันดาลใจในการผลักดันธุรกิจ รวมถึงสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจการค้าและพัฒนาต่อยอดได้ ที่สำคัญแผนธุรกิจที่มีความชัดเจนสามารถนำไปใช้ในการทำธุรกิจได้จริง”

นายนันทพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าผู้ส่งออกไทยทั้งหมดมีประมาณกว่า 30,000 ราย มีรายได้รวม 8 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ 80% เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี แต่รายได้กลับมีเพียง 30% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็ตั้งบริษัทในกรุงเทพฯและปริมาณมณฑล ขณะที่ รายกลาง รายใหญ่ และบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในไทยมีปริมาณ 20% แต่กลับมีรายได้จากการส่งออก 70% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถเป็นผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะหากมีธุรกิจเอสเอ็มอี หรือธุรกิจรายเล็กๆ ตามชุมชนต่างๆ ส่งออกได้มากก็จะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็งตามไปด้วย

“สถาบันยังให้ความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มีกว่า 500,000 รายเพื่อมาพัฒนาศักยภาพ ขณะเดียวกันก็จะมีการติดตามผลผู้ที่เข้าโครงการฝึกอบกับเอ็นอีเออย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยในปีที่แล้วมีผู้เข้ามาอบรมความรู้และเข้ามาศึกษาข้อมูลทั้งที่เป็นโครงการของเอ็นอีเอและผ่านเว็บไซต์เอ็นอีเอกว่า 100,000 ราย และปีนี้ตั้งเป้าที่ฝึกอบรม 30,000 รายจาก 100 หลักสูตร”

นายนันทพงษ์ กล่าวว่า สถาบันยังมีแผนที่จะส่งเสริมให้พนักงานบริษัท ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปที่มีอายุ50-60 ปีขึ้นไป เข้าร่วมพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นผู้ประกอบการและผู้ส่งออก รองรับประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หรือมีการคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีประชากรอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 26% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มมีศักยภาพ และหลายคนต้องการทำงานมากกว่าเกษียณอายุอยู่ที่บ้าน ดังนั้นหากได้รับการฝึกอบรมทิศทางการทำธุรกิจ การเรียนรู้เทคโนโลยี และช่องทาง การตลาดผ่านอี-คอมเมิร์ซ จะช่วยเพิ่มปริมาณผู้ประกอบการที่เข้มแข็งและสร้างรายได้เข้าประเทศ

“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะส่งเสริมคนรุ่นใหม่ หรือคนวัยแรงงานในการเป็นผู้ประกอบการ แต่ในส่วนของผู้สูงอายุนั้นจะมีการพูดถึงน้อย ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญด้านส่งเสริมการออม ดังนั้นทางเอ็นอีเอ เห็นว่าจำเป็นต้องผลักดันผู้สูงอายุที่มีความพร้อมให้เป็นผู้ส่งออกด้วย เพราะกลุ่มนี้มีศักยภาพมากๆ และพร้อมที่จะปรับตัว เช่น หลายคนเริ่มหันมาเล่นไลน์ หรือเฟสบุ๊คเพื่อให้ตามทันกระแสโลกแล้ว หากแนะนำให้รู้ระบบเรื่องของธุรกิจ การส่งเสริมช่องทางตลาดทั้งในและต่างประเทศ เชื่อว่าจะเกิดผลดี”

สำหรับการส่งเสริมผู้สูงอายุให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกนั้นจะเน้นเรื่องของการส่งออกผ่านผ่านออนไลน์ หรือช่องทาง ไทยเทรดดอทคอม และเว็บไซต์ระดับโลกที่เป็นเครือข่ายของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เช่น อีเบย์, อาลีบาบา, คูปัง,อเมซอน เป็นต้น เพราะการส่งออกผ่านระบบออนไลน์นั้นความเสี่ยงจะน้อย และต้นทุนการทำธุรกิจก็จะต่ำกว่า การส่งออกทั่วไป

เอ็นอีเอ จัดโครงการ พีจีซี รุ่นที่ 3 ตามนโยบายเศรษฐกิจแบ่งปันให้ทุกกลุ่มเข้าถึงความรู้ นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์