posttoday

สถ.ติวเข้มเร่งเพิ่มประสิทธิภาพจัดการน้ำเสีย

15 กุมภาพันธ์ 2562

สถ.ติวเข้มผู้เกี่ยวข้องของอปท.13 จังหวัดภาคกลางในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย

สถ.ติวเข้มผู้เกี่ยวข้องของอปท.13 จังหวัดภาคกลางในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำเสีย กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รุ่นที่ 1 โดยมีนายชีระ วงศบูรณะ ผอม.องค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวต้อนรับ และมีนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี และผู้รับผิดชอบระบบบำบัดน้ำเสียหรือสุขาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 17 แห่ง จาก 13 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมองค์การจัดการน้ำเสีย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบบำบัดน้ำเสีย รวมของ อปท. ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และชะลอโครงการออกไปรวมถึงที่ยังไม่ได้มีการรับมอบ จำนวนทั้งหมด 105 แห่ง ซึ่งมี อปท. จำนวน 91 แห่ง เป็นเจ้าของ คิดเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวน อปท. ในประเทศไทยทั้งหมด 7,851 แห่ง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม นั่นคือ น้ำ เพราะน้ำคือชีวิต ในเรื่องของการดูแลรักษาความสะอาดของคูคลอง โดยพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) บูรณาการดำเนินงานร่วมกับ สถ.ในการจัดการปัญหาเรื่องน้ำเสีย รวมทั้ง จากที่องค์การจัดการน้ำเสีย ได้ดำเนินภารกิจในการให้บริการ รับบริหาร หรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสียทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย โดยจัดให้มีโครงการรับบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียรวมของ อปท. มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555 เป็นต้นมา และได้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของ อปท. จำนวน 26 แห่ง เข้าร่วมดำเนินการภายใต้โครงการ

อย่างไรก็ตาม อปท. มีภารกิจในการจัดการปัญหามลพิษทางน้ำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 , พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งหนึ่งในกลไกที่สำคัญของการจัดการปัญหามลพิษทางน้ำ คือ ระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำทิ้งที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนดไว้ ดังนั้น การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่ อปท. รวมทั้ง การบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียรวม ซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว ให้สามารถเดินระบบได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทาง สถ. จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้กับ อปท. โดยการยกร่างเทศบัญญัติ / ข้อบังคับ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเสีย เพื่อให้อปท. สามารถนำไปดำเนินการเสนอต่อสภา อปท. ต่อไปได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินภารกิจด้านจัดการน้ำเสีย ก็ขอให้ได้ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมใน 2 เรื่องหลักๆด้วย นั่นคือ การบริหารจัดการขยะมูลฝอย และเรื่องการบริหารจัดการน้ำเสีย ที่ทั้ง 2 เรื่องนี้ เกี่ยวโยงกับเรื่องต่างๆ อีกมากมายในการดำรงชีวิตของประชาชน