posttoday

องค์การเภสัชกรรมเผยผลการดำเนินงานปี 2561 ช่วยรัฐประหยัดกว่า 7,500 ล้านบาท

24 มกราคม 2562

องค์การเภสัชกรรมปลื้ม ปี 2561 ช่วยรัฐประหยัดกว่า 7,500 ล้านบาท เน้นเป็นองค์กรหลักผลิตยาเชิงสังคม

 

องค์การเภสัชกรรมปลื้ม ปี 2561 ช่วยรัฐประหยัดกว่า 7,500 ล้านบาท เน้นเป็นองค์กรหลักผลิตยาเชิงสังคม ที่จำเป็นในระบบสาธารณสุข พร้อมเดินหน้าผลิตวัคชีนไข้หวัดใหญ่สำหรับใช้ทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 3 ในกลางปีนี้ ส่วนกัญชาทางการแพทย์ กลางปีได้สารสกัดต้นแบบกัญชาชุดแรกสำหรับศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการ

วันที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 10.00 น. ที่องค์การเภสัชกรรม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นประธานการแถลงข่าว "ผลการดำเนินงาน ปี 2561 ความคืบหน้าโครงการสำคัญ ทิศทางในอนาคตองค์การเภสัชกรรม" โดยมีคณะผู้บริหารองค์การเภสัชกรรมร่วมแถลงข่าว

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์การดำเนินงานใหม่ "เป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยา และเวชภัณฑ์ของประเทศที่ทันสมัย และยั่งยืน" โดยมุ่งเน้นการผลิตยาและดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานสากล และยังคงยึดมั่นดำเนินการวิจัยและผลิตยาเชิงสังคม ยาที่มีความจำเป็นในระบบสาธารณสุขไทย และสร้างความเข้มแข็งให้สามารถพึ่งพาตนเองได้  พร้อมเร่งสร้างนวัตกรรมยาและเวชภัณฑ์ใหม่ๆรวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีศักยภาพทางการแข่งขันและสอดรับกับรูปแบบการใช้ดูแลรักษาสุขภาพและความต้องการที่หลากหลายและเพิ่มมากขึ้น                    

องค์การเภสัชกรรมเผยผลการดำเนินงานปี 2561 ช่วยรัฐประหยัดกว่า 7,500 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานขององค์การฯ ในปี 2561 องค์การฯ มีผลประกอบการ 16,651 ล้านบาท ทำให้ช่วยรัฐประหยัดได้มากกว่า 7,500 ล้านบาท ขณะเดียวกันโครงการต่างๆได้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย   ที่ประสบผลสำเร็จล่าสุดคือการได้รับการรับรองมาตรฐาน WHO PQ จากการผลิตของยาต้านไวรัสเอดส์เอฟฟาไว-เรนท์ที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 การได้รับรางวัล FOYA Award จากสมาคม ISPE ( International Society for Pharmaceutical Engineering) ที่มีสมาชิกกว่า 18,000 ราย  ใน 90 ประเทศ ในฐานะโรงงานผลิตยารังสิต 1 มีการออกแบบด้านคุณภาพ และมีมาตรฐานระดับสากล มุ่งหวังผลิตยาที่มีคุณภาพให้ผู้ป่วยเอดส์ได้เข้าถึงยาดีมีคุณภาพ ส่งผลให้มีชีวิตที่ยืนยาว นอกจากนั้นได้กระจายผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ใหม่ 2 รายการ ที่มุ่งเน้นลดปัญหาการดื้อยาและรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา ประกอบด้วย ยาเม็ด Abacavir 300 mg. เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ สูตรทางเลือกร่วมกับยาต้านไวรัสฯกลุ่มอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยา ลดผลข้างเคียงที่เกิดจากยาจำเป็นพื้นฐาน (first line regimen) ตามแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทย และยาเม็ด Ritonavir 100 mg. เป็นยาต้านไวรัสฯในกลุ่ม Protease Inhibitors (PIs) ถูกนำมาใช้คู่กับยาในกลุ่ม PIs อื่นๆ เพื่อเพิ่มระดับยา PIs ตัวอื่นในกระแสเลือด  พร้อมกันนั้นได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มในส่วนของการผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Plant) ในอาคารโรงงานผลิตยารังสิต 1 ที่ได้เปิดทำการผลิตไปแล้วจำนวน 4 สายการผลิต  เมื่อปี 2559 เพื่อใช้สำหรับผลิตยาที่ยกระดับจากงานวิจัยที่ผลิตในระดับห้องปฏิบัติการ เป็นผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมและยังสามารถนำมาใช้สำหรับการผลิตยาจำเป็นอื่นๆได้อีก ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกปีละ 38 ล้านเม็ด  

ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2562 องค์การฯ ตั้งเป้าหมายผลประกอบการไว้ 16,720 ล้านบาท ในส่วนของแผนการดำเนินงานนั้นองค์การฯ มีโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ได้แก่ ด้านโรงงานผลิต(วัคซีน) ชีววัตถุ ที่จ.สระบุรี จะได้วัคซีนที่ใช้ทำการทดสอบอาสาสมัคร ในเดือนพฤษภาคมนี้ และใช้เวลาในการติดตามผล 1 ปี โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปยื่นขอทะเบียนวัคซีนต่อไป  ด้านโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 ที่อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี  เพื่อผลิตยาน้ำรับประทาน ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ ยาน้ำใช้ภายนอก ยาฉีด และยาเม็ด ที่จำเป็นในระบบสาธารณสุข รวมทั้งคลังที่ใช้สำหรับการสำรองวัตถุดิบและอุปกรณ์ งบประมาณจำนวน 5,607 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการใหญ่และสำคัญมาก ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดในการคัดเลือกบริษัทผู้จ้างก่อสร้าง คาดว่าจะได้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างภายในเร็วๆนี้  ในส่วนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้น คาดว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะสามารถเริ่มทำการปลูกกัญชาสำหรับเป็นวัตถุดิบในการนำมาผลิตเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ อย่างถูกกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย บนพื้นที่องค์การฯ อ.ธัญบุรี ได้ และจะสามารถสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบสำหรับมาศึกษาวิจัยพัฒนาและทำการศึกษาทดลองในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการในกลางปีนี้ พร้อมกันนั้นจะทำการเพิ่มพื้นที่การปลูกและการศึกษา วิจัย พัฒนา สายพันธุ์กัญชาและผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชา ให้มากขึ้นเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม สำหรับทำการศึกษา ทดลอง ในผู้ป่วยได้ที่เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นและกลุ่มโรคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น  นอกจากนั้นในส่วนของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรนั้นเป็นสิ่งที่องค์การฯได้ยกระดับให้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญ โดยมุ่งดำเนินด้านสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเป็นผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งยกระดับเทคโนโลยีและมาตรฐานการวิจัย พัฒนาและผลิตสารสกัดและรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในระดับสากลมากขึ้น โดยเน้นผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรที่เป็นยารักษาโรค และขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และการส่งออกสู่ต่างประเทศ

องค์การเภสัชกรรมเผยผลการดำเนินงานปี 2561 ช่วยรัฐประหยัดกว่า 7,500 ล้านบาท

ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงปี 2562 นี้ ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงยาใหม่ที่มีความจำเป็นในระบบสาธารณสุขไทย ไม่น้อยกว่า 3 รายการ อาทิ ยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดเม็ดสูตรผสม 3 ชนิด ที่ประกอบด้วย  Efavirenz / Emtricitabine / Tenofovir DF ขนาด 600/200/300 mg  เป็นยาต้านไวรัสเอดส์จำเป็นพื้นฐาน (first line regimen) ที่ช่วยลดปัญหาการดื้อยาและเพิ่มความสะดวกในการรับประทาน  ยาเม็ด Darunavir 3 ขนาด 150 mg, 400 mg และ 600 mg ใช้เป็นยาทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ดื้อยา หรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงต่อยาในกลุ่มอื่นๆได้  และยาละลายลิ่มเลือด โคลพิโดเกรล ซึ่งก่อนหน้านี้องค์การฯจัดหาโดยนำเข้าจากต่างประเทศและกระจายตามการประกาศใช้สิทธิ์เหนือสิทธิ์บัตรหรือ CL มาตั้งแต่ปี2551นั้น ปัจจุบันองค์การฯได้ทำการวิจัยและพัฒนา จนสามารถผลิตได้เองไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ซึ่งยานี้จะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ถึง350 ล้านบาทต่อปี  ในส่วนการสร้างการเข้าถึงยาในภาคประชาชนผ่านร้านขายยานั้น องค์การจะขยายแสวงหาพันธมิตรเพิ่มให้มากขึ้นจากเดิมที่ในปี 2561 ได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงยาผ่านร้านเพรียว ในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ไปแล้วกว่า  140  สาขา ทั่วประเทศ

ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า การสร้างอนาคตและขับเคลื่อนองค์การฯให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ ความคาดหวังของสังคม และการเปลี่ยนแปลงของสังคม อย่างมั่นคงและยั่งยืน นั้น บุคลากรทั้งที่เป็นผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกคน ตลอดจนระบบงาน กระบวนการภายในต่างๆ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่องค์การฯต้องเร่งพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  จึงได้เริ่มพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างคน สร้างผู้บริหาร สร้างวัฒนธรรมที่ดี  นำเทคโนโลยีและระบบงานสมัยใหม่เข้ามาใช้อย่างเป็นระบบมากขึ้นและพัฒนาการจัดการความเสี่ยงในองค์กรทั้งเรื่องของการพัฒนาธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กร ระบบแผนงานต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น  โดยเชื่อว่าการขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาบุคลากรและกระบวนการภายในให้ดีมีศักยภาพที่พร้อม  จะทำให้ผลประโยชน์ต่างๆจากการดำเนินงานขององค์กรจะส่งต่อสู่ประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างมั่นคงและยั่งยืน