posttoday

อภัยภูเบศรชวนถกปม"หนานเฉาเหว่ย" ถอดบทเรียนสมุนไพรทำลายไตไม่จริง

16 มกราคม 2562

รพ. อภัยภูเบศรชวนประชาชนถกปม"หนานเฉาเหว่ย" ถอดบทเรียนสมุนไพรทำลายไตไม่เป็นความจริง

รพ. อภัยภูเบศรชวนประชาชนถกปม"หนานเฉาเหว่ย" ถอดบทเรียนสมุนไพรทำลายไตไม่เป็นความจริง

หลังจากที่มีกระแสสังคม ทั้งโลกออนไลน์ ตลอดจนข่าวที่ปรากฎตามสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์สมุนไพร “หนานเฉาเหว่ย” หรือ “ป่าช้าเหงา” ว่ากินแล้วทำให้เกิด ไตวาย บางรายถึงขั้นเสียชีวิต จนทำให้สมุนไพรไทยถูกตั้งคำถามว่าสามารถช่วยบรรเทาและรักษาโรคได้จริงหรือ 

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ตามที่มีการเปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ใช้ หนานเฉาเหว่ย หรือ ป่าช้าเหงา แล้วพบว่าเกิดผลข้างเคียงสุขภาพ ได้แก่ ค่าการทำงานของตับและไตที่เพิ่มขึ้น บางรายพบอาการไตวาย และมี 1 รายที่พบว่าเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด นั้น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล รายงานการใช้สมุนไพรชนิดนี้ในผู้ป่วยที่โรงพยาบาล พบว่ามีเพียง 2 ราย ที่มีผลการตรวจค่าการทำงานของตับและไตก่อนเริ่มรับประทานหนานเฉาเหว่ย คือ รายที่ 1 ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานรูปแบบใบสด วันละ 4 ใบ ต่อเนื่องกันประมาณ 3 เดือน ค่าการทำงานของไต จาก 60 ลดลงเหลือ 40 และเมื่อหยุดรับประทาน 1 เดือน ค่าการทำงานของไตกลับขึ้นมาอยู่ที่ 60 เท่าเดิม อีกราย เป็น ผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะไตวายระยะที่ 2 ค่า ซีรั่มครีเอทินีนเท่ากับ 1.08 หลังรับประทานรูปแบบผงยาขนาด 900 มก.ต่อวัน นาน3เดือน ทำให้ซีรั่มครีเอทินีนสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.13

“ส่วนตัวอย่างรายที่พบความผิดปกติของค่าการทำงานของไต จากสื่อออนไลน์ ผู้ป่วยรับประทานหนานเฉาเหว่ย วันละ 3 ใบ นาน 1 เดือน ค่าไตจากระยะ 3 เป็นระยะ 4 เมื่อหยุดกินค่าไตกลับลดลงเท่าเดิม แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆของผู้ป่วย สำหรับข้อมูลผู้ป่วยที่รายงานว่าเกิดผลข้างเคียงจากการรับประทานหนานเฉาเหว่ย โดยมากไม่มีผลทางห้องปฏิบัติการ  และข้อมูลอื่นๆ ที่จะมาใช้ประเมินผลข้างเคียงจากการรับประทานหนานเฉาเหว่ย  ดังนั้นจึงขอแนะนำผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะเบาหวาน หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต หรือไขมันได้ด้วยยาแผนปัจจุบันก็ไม่ควรใช้สมุนไพรเสริม  ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับและไต ผู้หญิงท้องและเด็กไม่ควรรับประทาน โดยขนาดที่สามารถรับประทานได้ไม่เกิน 2 ใบต่อวัน ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือแพทย์เกิดความสงสัยถึงผลข้างเคียงของยาจากสมุนไพร สามารถสอบถามและรับคำแนะนำได้ที่ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ฯ ในวันและเวลาราชการ” ภญ.ผกากรอง กล่าว

ภญ.ผกากรอง กล่าวต่อว่า จากการที่สัมผัสกับประชานผ่านช่องทางการให้ข้อมูลสุขภาพแล้วพบว่า ประชาชนยังมีความเข้าใจในการใช้สมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพน้อยมาก โดยฟังจาก เขาเล่าว่าดี จึงกินตาม แต่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้มักเจอว่าประชาชนมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาสมุนไพร เราจึงคิดว่าการสร้างการเรียนรู้ในเรืองนี้สำคัญและจะเริ่มให้ความรู้กับกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังก่อน โดยจะจัดเสวนา “ถอดบทเรียนสมุนไพร ใช้อย่างไรห่างไกลตับไตวาย” และ “รวมพลคนเบาหวาน” ในช่วงงานมกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ที่ใกล้จะถึงนี้

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องราวดีๆ การดูแลไตในมิติต่างๆ รวมถึง การใช้สมุนไพรอย่างไรให้ไตไม่พัง สามารถไปพบกันได้ที่ งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 16 วันที่ 6 ถึง 10 มีนาคม 2562 อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ 10-12 มีแจกหนังสือสมุนไพร และต้นพันธุ์สมุนไพรหายากที่คนรักสุขภาพไม่ควรพลาด สอบถามเพิ่มเติม 037-211289 หรือ เฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร