posttoday

ศมส. ผนึกกำลังภาคประชาชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “คลังข้อมูลชุมชน” รุ่นที่ 1 สร้างมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลชุมชนโดยชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

16 มกราคม 2562

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)(ศมส.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "คลังข้อมูลชุมชน" หลักสูตรที่ 1 รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 14 – 15 มกราคม 2562

 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)(ศมส.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "คลังข้อมูลชุมชน" หลักสูตรที่ 1 รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 14 – 15 มกราคม 2562 โดยได้รับเกียรติจาก นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมจากหลากหลายพื้นที่และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยการอบรมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนต้นแบบการจัดเก็บข้อมูลชุมชนโดยคนในชุมชน

นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศมส.เป็นศูนย์ข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่สร้างสรรค์ สะสม และส่งผ่านความรู้ให้กับชุมชนวิชาการและสาธารณชนมาเป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ ผ่านผลงานวิชาการและคลังข้อมูลดิจิทัล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานที่ผ่านมา ศมส. ได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการข้อมูลวิชาการให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อให้ข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ภายในคลังข้อมูลดิจิทัลของศมส. เป็นข้อมูลที่มีความทันสมัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ต้องการ “เป็นองค์กรหลักในการจัดการข้อมูลและความรู้ทางด้านมานุษยวิทยา เพื่อสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติ”

ผอ.ศมส. กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่แวดวงวิชาการแล้ว "ชุมชนเจ้าของข้อมูลวัฒนธรรม" ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ศมส. ให้ความสำคัญ และมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกันด้วยความเคารพ พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางการแบ่งปันและใช้ประโยชน์จากข้อมูลชุดนี้ร่วมกันอย่างยั่งยืน เพราะศมส. ตระหนักถึงสิทธิทางวัฒนธรรมที่ชุมชนเหล่านี้มีต่อข้อมูล และความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชน ซึ่งเปรียบเสมือน "สมบัติชุมชน”ของชุมชน" โครงการพัฒนาคลังข้อมูลชุมชนและเครือข่ายข้อมูล” ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาคลังข้อมูลด้านสังคม-วัฒนธรรมของชุมชนทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดย ศมส.เป็นผู้พัฒนามาตรฐานและแพลตฟอร์มขึ้น เพื่อให้ข้อมูลของเครือข่ายได้รับการจัดเก็บจัดการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานและแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน

นายทนงศักดิ์ เลิศพิพัมน์วรกุล รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานคลังข้อมูล กล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่รู้เรื่องเราดีที่สุด คือตัวเราเอง คนนอกอาจไม่เข้าใจบริบทของชุมชนเท่ากับคนในชุมชน อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมา ศมส. จะทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นในหลายลักษณะ ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลสังคม-วัฒนธรรม พัฒนาทักษะและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายมาโดยตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานโดยนักวิชาการ หรือ “คนนอก” ชุมชน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทางโครงการจึงจะส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มคนเจ้าของข้อมูลทางวัฒนธรรม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลของตนเอง ด้วยทักษะด้านบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีความเข้าใจในบริบทของข้อมูลด้านวัฒนธรรม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูลและสิทธิทางวัฒนธรรม นอกจากนั้น ยังจะสร้างเสริมศักยภาพด้านการจัดเก็บจัดการข้อมูลและทักษะเบื้องต้นด้านดิจิทัลให้กับเครือข่าย สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นต้นทุนของชุมชนและคนในระดับปัจเจก ซึ่งสามารถนำต้นทุนเหล่านี้ไปแปรรูปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายตามความเหมาะสม

ศมส. ผนึกกำลังภาคประชาชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “คลังข้อมูลชุมชน” รุ่นที่ 1 สร้างมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลชุมชนโดยชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ด้วยเหตุนี้ ศมส. จึงจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘คลังข้อมูลชุมชน’ หลักสูตรที่ 1 (รุ่นที่ 1)  ขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายคลังข้อมูลชุมชน แนะนำโครงการ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินโครงการให้แก่เครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรม ชี้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลด้านสังคม-วัฒนธรรม ได้ทราบและเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และความสำคัญของตนเองเกี่ยวกับการจัดเก็บ จัดการ อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านสังคม-วัฒนธรรมของชุมชนตนเอง เสริมสร้างทักษะเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเก็บจัดการข้อมูลชุมชน และทักษะการเขียนข้อเสนอโครงการ ให้กับเครือข่าย สนับสนุนให้เครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ประเมินความพร้อมและศักยภาพของชุมชนในการเข้าร่วมโครงการด้วยตนเอง รวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์และกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะประสบการณ์ระหว่าง ศมส.กับเครือข่าย และระหว่างเครือข่ายด้วยกันเอง ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้เครือข่ายที่เข้าร่วมอบรมยื่นข้อเสนอโครงการมายัง ศมส. เพื่อขอพิจารณารับงบประมาณสนับสนุนสำหรับการจัดทำคลังข้อมูลชุมชนของตนเอง ราวเดือนเมษายน 2562

การดำเนินกิจกรรมและโครงการนี้ ล้วนแล้วแต่มุ่งหวังส่งเสริมให้ชุมชนมีความ “มั่นคง” เข้มแข็งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ด้วยทรัพยากรทางสังคม-วัฒนธรรมที่ตนเองมี จัดเก็บจัดการทรัพยากรเหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล แปลงทรัพยากรให้เป็นทุน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของเจ้าของทรัพยากร นำมาซึ่งความ “มั่งคั่ง” ทั้งทางปัญญาและเศรษฐกิจชุมชน และ “ยั่งยืน” ด้วยการจัดเก็บจัดการข้อมูลโดยคำนึงถึงความปลอดภัยคงทน คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนเกี่ยวกับบทบาทในการจัดเก็บ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางสังคม-วัฒนธรรมของตน ส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรเหล่านั้น สร้างศักยภาพให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ติดตั้งทักษะให้แก่เจ้าของทรัพยากรรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้มีศักยภาพด้านการจัดการข้อมูล เพื่อการใช้และอนุรักษ์ข้อมูลอย่างยั่งยืน ครบวงจร และให้มีทักษะด้านดิจิทัลเบื้องต้น สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ รู้เท่าทันเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทักษะเหล่านี้เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญสำหรับบุคลากรในศตวรรษที่ 21

"เราเป็นสิ่งที่เราเก็บ เราเก็บสิ่งที่เราเป็น" นายสิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี นักวิชาการ กลุ่มงานคลังข้อมูล กล่าวทิ้งท้ายในการแนะนำโครงการว่า ณ ตอนนี้ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อเก็บสิ่งที่คิดว่าเป็นภูมิปัญญาของชุมชน ซึ่งสิ่งที่เก็บตอนนี้ จะได้รับการถ่ายทอด ส่งต่อ และนำไปใช้วางกรอบของชุมชนของเราต่อไปในอนาคต "โครงการนี้ เปรียบเสมือนโครงการเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มีโอกาสสำรวจตัวเราเองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนได้นำไปใช้เรียนรู้ ศึกษาเรื่องราวในอดีต ใช้เป็นตัวกำหนดความคิด สิ่งที่เขาอยากจะเป็น"

"การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ ในการพยายามสื่อสารให้ชุมชนที่เป็นเจ้าของข้อมูลวัฒนธรรมได้ตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ข้อมูลและความรู้อันเป็นสมบัติของชุมชน จำเป็นต้องได้รับการจัดการและการดูแลโดยชุมชนเอง เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าใจและใช้ข้อมูลของชุมชนอย่างเหมาะสม เคารพในสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ  ทั้งยังเป็นการประกาศย้ำจุดยืนของศมส. อีกครั้ง ในฐานะ“เพื่อน” ที่เข้าใจ และพร้อมจะช่วยเหลือชุมชนที่เป็นเครือข่าย ด้วยความรู้และทรัพยากรที่ศูนย์มี เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถยืนหยัดต่อสู้กับสภาวะความผันแปรของสังคมมนุษย์ในยุคดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน" ผอ.ศมส.กล่าวปิดท้าย

ศมส. ผนึกกำลังภาคประชาชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “คลังข้อมูลชุมชน” รุ่นที่ 1 สร้างมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลชุมชนโดยชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล