posttoday

ภารกิจส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้ไม่สิ้นสุด

21 พฤศจิกายน 2561

ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงในมิวสิควิดีโอ "MADE IN BONGKOT" ที่เรียกเสียงฮือฮาจากชาวเน็ตได้ไม่น้อย เมื่อ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

 

"บงกช เมดอินบงกช จะผลิต จะเจาะ จะเสาะหา ให้ทุกชีวิตได้ยิ้มออก จากเหนือไปจรดแดนใต้ ขวานทองฝั่งซ้ายสุดทิศตะวันออก ทุ่มเทแรงใจ ดูแลบงกชโดยคนไทย และเราจะทำต่อไปเป็นคำสัญญาที่อยากจะบอก…."

ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงในมิวสิควิดีโอ "MADE IN BONGKOT" ที่เรียกเสียงฮือฮาจากชาวเน็ตได้ไม่น้อย เมื่อ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดทำและเผยแพร่ MV ดังกล่าวออนไลน์ ในโอกาสที่แหล่งบงกช แหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญกลางอ่าวไทย ได้ดำเนินการผลิตมาจนครบ 25 ปีเต็มในปีนี้ โดยนอกจากจะมีความแปลกใหม่ในการทำเพลง ด้วยการนำเอาวิธีการแรปที่ฮิตติดลมบนกันทั่วบ้านทั่วเมือง มาผสานเข้ากับการร้องแบบโอเปร่า ที่ได้ "เจ เจตมนต์" และ "สันติ ลุนเผ่" มาฟีเจอริ่งกันแบบลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ เนื้อหาสุดกินใจของเพลงนี้ ยังสร้างมาจากเรื่องจริงแบบ Base on true story ของชาวแท่นบงกชอีกด้วย

วันนี้เรามีโอกาสได้มาพูดคุยกับชาวบงกชตัวจริงเสียงจริง ที่เรื่องราวของพวกเขาโลดแล่นอยู่ในเพลง "MADE IN BONGKOT" เชื่อว่าเมื่ออ่านเรื่องราวของพวกเขาแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าภารกิจของพวกเขา ไม่ใช่เพียงการส่งต่อพลังงานให้คนไทยได้ใช้อย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังทำให้คนไทยมีองค์ความรู้ในการเสาะหาพลังงานเป็นของตัวเอง และส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองทางพลังงานได้อย่างยั่งยืนมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

พกพาความรู้กลับบ้าน ผลิตก๊าซฯ ด้วยมือคนไทย

แหล่งบงกชในยุคบุกเบิกมี "โททาล" บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ โดยทีม ปตท.สผ. คนไทย ถูกส่งไปเรียนรู้งานด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามแหล่งต่าง ๆ ของโททาลทั่วโลก ตั้งแต่เทคนิคทางวิศวกรรม การออกแบบโครงสร้าง การสำรวจ การเงินการบัญชี ทรัพยากรบุคคล เพื่อกลับมาพัฒนาแหล่งบงกช

เราเริ่มต้นพูดคุยกับ "วุฒิพล ท้วมภูมิงาม" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิต ปตท.สผ. ว่าการเรียนรู้งานกับ "ฝรั่ง" เป็นประสบการณ์ที่ท้าทาย โดยมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคใหญ่ และเป็นประสบการณ์ที่รุ่นบุกเบิกไม่เคยลืม

"ปี 2532 ผมได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าให้ไปเรียนรู้งานที่ต่างประเทศเพื่อกลับมาทำงานในโครงการบงกช ตอนนั้นก็รู้สึกภูมิใจ เพราะว่ามีวิศวกรไทยที่ได้รับเลือกอยู่แค่สองคน ผมเป็นหนึ่งในนั้น หลังจากนั้นก็มีเวลาเตรียมตัวเพียง 2 สัปดาห์ก่อนจะบินไปฝรั่งเศส ช่วงนั้นผมรับผิดชอบเรื่องของการออกแบบอุปกรณ์การผลิต หลังจากนั้น ก็ย้ายไปเรียนงานต่อที่สิงคโปร์ โดยดูเรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ บนแท่น รวม ๆ แล้ว 2 ประเทศ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี งานด้านออกแบบก็จบ พร้อมสำหรับการสร้างแท่นและเริ่มปฏิบัติการในแหล่งบงกช"

ทำไมเราต้องเรียนรู้จากต่างชาติ? "เมื่อก่อนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นวิทยาการค่อนข้างใหม่ เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ตอนแรกที่รัฐบาลมอบหมายให้ ปตท.สผ. พัฒนาแหล่งบงกช จึงต้องส่งคนไปเรียนรู้กับฝรั่ง เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเราคนไทยจะได้ทำงานแทนที่พนักงานต่างชาติเหล่านั้นได้"

นับจากวันแรกที่แหล่งบงกชเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2536 ทีมงาน ปตท.สผ.ต้องเร่งเรียนรู้ Know-how จากโททาล ก่อนจะรับโอนการเป็นผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) ในอีก 5 ปีต่อมาให้ได้ โดยวุฒิพลเล่าถึงการทำงานใน 5 ปีแรกนั้นว่า ผู้ปฏิบัติงานในยุคบุกเบิกส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกกว่า 80% ซึ่งมีวัฒนธรรมการสอนงานที่แตกต่างจากชาวเอเชีย คือ เขาจะให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการสังเกตและจดจำ "เวลาฝรั่งเขาสอนงาน เขาไม่ได้สอนตรงๆ ก็ต้องอาศัยสังเกตเขา เวลาสั่งงาน บางทีเขาสั่งเลย ไม่ได้มาอธิบายว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเราสามารถเรียนรู้งานได้ด้วยตัวเอง ข้อเสียคือมันอาจเสียเวลาหน่อยกว่าจะจับได้ถูกทาง บรรยากาศก็กดดันพอสมควร เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าอีก 5 ปี เราต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง ต้องพยายามทำให้ได้ มันมีทั้งความทั้งผิดหวัง เสียใจ และก็สมหวัง ผสมกันตลอด 5 ปีนั้น และในที่สุดเราก็ทำได้" การถ่ายโอนสิทธิการเป็นผู้ดำเนินการหรือ Operatorship Transfer ของแหล่งบงกช จาก โททาลเป็น ปตท.สผ. ที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีในปี พ.ศ. 2541 จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ดำเนินงานด้านสำรวจและผลิต ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซฯ ได้ด้วยตนเอง

ภารกิจส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้ไม่สิ้นสุด

คนที่เคยเป็นผู้เรียนรู้ จะกลายเป็นครูให้รุ่นน้อง

จากจุดเริ่มต้นที่เรียนรู้จากโททาล เมื่อได้มาเป็นผู้ดำเนินการเอง เราได้มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งตลอด 25  ปี แหล่งบงกชทำหน้าที่เป็นสถาบันแห่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย และผลิต "นักเรียน" ไปแล้วหลายรุ่น ผสมผสานความรู้จากคนต่างยุคสมัยเข้าด้วยกัน ดังนั้นนอกจากจะเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้แล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการ "ส่งต่อ" องค์ความรู้อีกด้วย

"ประทีป มหาสวัสดิ์" ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชเหนือ ปตท.สผ. เขาใช้เวลา 21 วันไปกับการทำงานเพื่อบริหารจัดการแท่นบงกชให้สามารถเดินหน้าผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง กับอีก 21 วัน ที่เขาจะได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัวที่เขารัก ในวันนี้ที่คนรุ่นก่อนได้เติบโตก้าวสู่ระดับผู้บริหาร พร้อม ๆ กับการเข้ามาแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ ๆ คนที่เคยเป็นผู้เรียนรู้ในอดีต วันนี้ จึงกลายเป็นผู้ที่สอนงานให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

ซึ่งดูเหมือนว่าประทีป จะต้องรับมือกับความแตกต่างในจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ "กว่าจะได้เริ่มทำงานที่แท่นบงกช ผมต้องไปอบรมที่อาบูดาบีอยู่ 12-13 เดือนกับอุปกรณ์จริง ๆ เพื่อจะได้ลงมือทำจริง ตอนนั้น ระดับหัวหน้าขึ้นไปเป็นชาวต่างชาติทั้งหมดเลย แรก ๆ ก็มีปัญหาเรื่องภาษาบ้าง เราก็กัดฟันสู้ เพราะเรารู้ว่า เราจะได้กลับบ้าน เราจะได้กลับไปทำงานให้ชาติ" เขาเปิดบทสนทนา

เมื่อเราถามถึงการรับมือกับคนรุ่นใหม่ ๆ ประทีปตอบว่า "พอเรากลับมาทำงานกับคนไทยด้วยกัน ก็มีความสนิทใจกันมากขึ้น การรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ ๆ ตอนแรกก็ยาก เพราะเวลาที่เราสั่งงาน น้อง ๆ ก็มักจะมีคำถามกลับมาเสมอว่าทำไปทำไม แต่พอเริ่มจับทางถูก เราก็เข้าใจว่าการที่เขาถามอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวเขาเองจะได้ลองคิดหาวิธีการใหม่ ๆ ที่อาจจะได้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม หรือผลลัพธ์ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะอะไร และให้โอกาสเขาลองผิดลองถูก โดยเราคอยดูอยู่ห่าง ๆ และเป็นที่พึ่งเวลาเขาเจอปัญหา"

มีแนวทางการผสานคนหลายร้อยให้ทำงานร่วมกันอย่างไร "เราอยู่กันแบบพี่น้อง ไม่แบ่งแยกกัน ต้องยอมรับว่าการทำงานของเรายากขึ้นทุกวัน เพราะเรามีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะขึ้น แต่ว่ามีคนเท่าเดิม การบริหารคนให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด สิ่งหนึ่งที่ผมสอนทุกคนเสมอ ก็คือต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น" ประทีปกล่าว

ภารกิจส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้ไม่สิ้นสุด

บงกชไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่มันคือบ้านหลังที่สอง

สุภาพสตรีที่นั่งอยู่ข้างหน้าเราคือสาวแกร่งที่ปฏิบัติงานบนแท่นบงกช ทว่ามีท่าทางกริยาอ่อนหวาน เราจึงเปิดประเด็นกับ "กนกพร สินธวารยัน" วิศวกรกระบวนการผลิต ฝ่ายวิศวกรรมอุปกรณ์การผลิต ปตท.สผ. เรื่องการปรับตัวในบ้านหลังที่สองของเธอว่า "แรกๆ ไม่รู้จักใครเลย ผู้ชายแต่ละคนก็หน้าตาน่ากลัวกันทั้งนั้น (หัวเราะ) ช่วงแรกเขาก็จะทำหน้านิ่งๆ แต่พอลองพูดคุยด้วยเรื่องต่าง ๆ นานา สักประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มรู้จักกัน และค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน"

ผู้หญิงบนแท่นมีน้อย? "ใช่ค่ะ มีภาวะเกิร์ลแก๊ง ผู้หญิงก็จะนอนห้องเดียวกัน รอบการทำงานบนแท่นฯ ก็มีผู้หญิงสัก 2-3 คน ก็จะเริ่มจับกลุ่มกันบ้าง" ปกติผู้หญิงทำอะไรบนแท่นยามว่าง "T25 ค่ะ (หัวเราะ) ก็มีฟิตเนสบ้าง บางทีก็ลงไปวิ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับลงไปเตะบอลกับพี่ๆ เขา บางทีก็มีร้องเพลง เขามีเล่นดนตรี ก็ไปร้องเพลง ซ้อมดนตรีบ้าง"

เมื่อเราพูดคุยถึงการทำงานบนแท่งบงกช กนกพรเล่าว่า "พี่ๆ เขาค่อนข้างให้ความใส่ใจดี แต่ที่สำคัญกว่าคือการเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นของเรา บางทีเราเห็นในสิ่งที่เขาไม่เห็น เราก็เสนอไอเดียได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นสามารถทำได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานด้วยแล้ว พี่ๆ เขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เรารู้สึกว่าเขาเห็นคุณค่าของพลังเล็กๆ อย่างเรา การที่เรามีการส่งต่อองค์ความรู้ มันไม่ใช่แค่เรียนรู้มา แต่มันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ จุดนี้เป็นจุดที่รู้สึกว่าการทำงานกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญอีกอย่างคือที่ ปตท.สผ. ให้โอกาสได้เรียนรู้งานหลากหลายมาก การได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานมากขึ้น เวลาจะปรับเปลี่ยนอะไร พัฒนาอะไร ก็จะอิงกับความเป็นจริงว่ามันจะต้องสะดวกต่อคนที่ใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์นั้นจริง ๆ"

เมื่อเราถามถึงสิ่งที่กนกพรได้เรียนรู้จากแท่นบงกชนอกเหนือจากการทำงาน เธอยิ้มแล้วเล่าว่า "อย่างแรกคือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เราได้เห็นฉลามวาฬมาว่ายน้ำรอบแท่นหลายครั้ง ทำให้รู้สึกว่าเรายิ่งต้องเข้มงวดกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อย่างที่สองคือเรื่องความรักครอบครัว ส่วนใหญ่คนที่อยู่บนนั้นรักครอบครัวนะ อย่างตอนเย็นก็จะเห็นคนเป็นพ่อเฟสไทม์คุยกับลูก ได้เห็นด้านอ่อนโยนที่ปกติตอนทำงานไม่เห็น ซึ่งถ้าเป็นการทำงานในออฟฟิศ ถ้าเลิกงาน ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน     ก็คงไม่เห็นด้านอ่อนโยนแบบนี้"

การจัดการความสัมพันธ์กับครอบครัวของจึงเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราขอให้กนกพรเล่าถึง "ที่บ้านค่อนข้างชินกับการที่เราต้องเดินทางบ่อยๆ เพราะตั้งแต่ทำงานก็เดินทางบ่อยมาตลอด ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็จะอยู่ที่แหล่งสิริกิติ์ พิษณุโลก ตอนนั้นก็ต้องเดินทางทุกสัปดาห์เลย มีบินไปต่างประเทศเดือนสองเดือน ครอบครัวก็เข้าใจดีค่ะ ถ้าพูดถึงการทำงานบนแท่น เขาก็ห่วงนะ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไม่ให้ไป เพราะเขาไว้ใจกับมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัท"

ภารกิจของพวกเขาทั้งสามคนในวันนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย อย่างแท้จริง...

ส่วนใครที่อยากดู MADE IN BONGKOT ฉบับเต็มๆ เข้าไปรับชมกันได้ที่ YouTube PTTEP Official ได้เล