posttoday

สถ.ผลักดันกิจกรรม5สในวัดให้เกิดความยั่งยืน

14 พฤศจิกายน 2561

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เดินหน้า"โครงการวัด - ประชา - รัฐ - สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส"

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เดินหน้า"โครงการวัด - ประชา - รัฐ - สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส"
 
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้แทนฝ่ายคฤหัสถ์ถวายสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโครงการเจ้าคณะจังหวัดคณะธรรมยุตประชุมสัญจรกับคณะกรรมการคณะธรรมยุต และคณะอนุกรรมการคณะธรรมยุตทั้ง 5 คณะ พร้อมกล่าวถวายข้อมูล เรื่อง "โครงการวัด - ประชา - รัฐ - สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส" แก่พระสังฆาธิการผู้เข้าประชุม จำนวนกว่า 130 รูป โดยมีพระพรหมมุนี เลขาธิการคณะธรรมยุต วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประธานอำนวยการจัดประชุมฯ กราบทูลถวายรายงาน และมีนายจิรวิทย์ นิยมธรรม รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าร่วม

นายสุทธิพงษ์ได้กล่าวถวายข้อมูลถึง "โครงการวัด - ประชา - รัฐ - สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส" ว่า นับเป็นมหากุศลยิ่ง ที่คณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระเดชพระคุณพระพรหมมุนี เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้เมตตาให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 7,851 แห่ง ไม่รวมกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมโครงการวัด - ประชา - รัฐ - สร้างสุข ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยความร่วมมือดำเนินโครงการ วัด - ประชา- รัฐ - สร้างสุข : พัฒนาวัดตามแนวทาง 5ส ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีสาระสำคัญในการทำชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้วยแนวทาง 5 ส เพื่อให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการทำชุมชนให้เข้มแข็ง และวัดพร้อมเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างยั่งยืน และกรมฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าว เป็นการจรรโลงและดำรงไว้ ซึ่งพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 ทั้งฝ่ายพุทธจักร และฝ่ายอาณาจักร ที่ต้องคอยเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ประกอบกับการนับถือศาสนา คำสอนของศาสนา และพิธีกรรมทางศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังจากที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ในเรื่องนี้แล้ว กรมฯ ได้ดำเนินการโดยทันที เพราะตระหนักดีว่า โครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีของประชาชนในท้องถิ่นกับวัดและศาสนสถานอื่นๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น ให้ได้มีโอกาสช่วยกันทำสิ่งที่ดี นั่นคือ ทำให้วัด หรือศาสนสถาน มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม อันจะเป็นการสร้างสุขลักษณะที่ดี และสร้างความเลื่อมใส ให้แก่เด็ก เยาวชน และคนในท้องถิ่นนั้นๆ

ซึ่งกรมฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการให้ความร่วมมือกับมหาเถรสมาคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว โดยให้ขอคำปรึกษาหารือ จากเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล หรือเจ้าอาวาสวัดแล้วแต่กรณี คัดเลือกวัดที่เหมาะสมเข้าร่วมโครงการฯ โดยให้ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอย่างน้อย 1 วัดเข้าร่วมโครงการฯ เว้นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่มีวัดอยู่ในพื้นที่ ก็ให้คัดเลือกศาสนสถาน ของศาสนานั้นดำเนินการตามโครงการฯ แทน โดยอนุโลมให้ สอดคล้องกับหลักของศาสนานั้นๆ โดยกรมฯ ยังได้จัดทำคู่มือการดำเนินงาน โครงการวัด- ประชา -รัฐ - สร้างสุข : พัฒนาวัดตามแนวทาง 5ส ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น www.dla.go.th ด้วย และในปัจจุบัน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 4,419 แห่ง มีวัดที่เข้าร่วมโครงการ 4,445 วัด และมีศาสนสถานอื่นๆ เช่น มัสยิด เข้าร่วมโครงการอีกจำนวน 39 แห่ง

นายสุทธิพงศ์กล่าวต่อว่า ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ กรมฯ จะสรุปรายชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กับท้องถิ่นจังหวัดในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วยนำไปขับเคลื่อนให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 1 อปท 1 ศาสนสถาน ภายในเดือนธันวาคม 2561นี้ และในปี 2562 กรมฯ จะเริ่มระยะที่ 2 โดยเชิญชวนให้ทุก อปท. เพิ่มจำนวนวัดหรือศาสนสถานอีก 1 แห่ง นั่นหมายความว่า ภายในปี 2562 ทุก อปท. จะมีศาสนสถานที่เข้าร่วมโครงการ อย่างน้อย 2 ศาสนสถานนั่นเอง และความสำเร็จต่างๆ ของโครงการนี้ กรมฯ จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ให้แก่สาธารณชน ซึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จผล ต้องขอรบกวนทางคณะสงฆ์ ได้ให้ความเมตตาไปเยี่ยมเยียน พูดคุยกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ด้วย โครงการฯนี้ ก็จะมีความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

การดำเนินกิจกรรม 5ส ให้เกิดความยั่งยืนนั้น วัดและผู้นำชุมชนต้องมีความมุ่งมั่น ในการนำเครื่องมือ 5ส มาต่อยอด เพื่อพัฒนาวัดโดยการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบนำการทำกิจกรรม โดยทุกพื้นที่จะต้องกำหนดแผนปฏิบัติการในการจัดทำ 5ส เช่น ส2 สะดวก และ ส3 ทำความสะอาดให้ทำทุกวัน ในส่วนของ ส1 สะสาง อาจทำทุกวันพระ หรือ เดือนละ 1 ครั้ง ฯลฯ โดยให้กิจกรรม 5ส ฝังอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การทำแค่ Big Cleaning Day หรือ เฉพาะเวลาวัดมีงานเท่านั้น แต่ต้องทำ 5ส ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้วัด และ อปท. เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสังคมให้เกิดสัมพันธภาพอันดีโดยผ่านการดำเนินกิจกรรมตามโครงการวัด ประชา รัฐ : พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5ส ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ชุมชนก็จะเกิดความเหลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และเป็นการสืบสานและจรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในสังคมสืบไป รวมถึงเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนของชุมชน ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้ในการจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน รวมถึง เป็นศูนย์รวมในการเผยแพร่หลักคำสอน ต่างๆ และการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรมอันดีนั่นเอง อธิบดีกล่าว