posttoday

3 ประเภทของดอกเบี้ยบ้านพร้อม 3 วิธีรับมือผ่อนบ้านในฝันแบบชิลๆ

31 ตุลาคม 2561

น้อยคนนักที่มักจะเลือกวิธีซื้อบ้านด้วยเงินสดก้อนโต เนื่องด้วยทุกวันนี้ราคาอสังหาฯ ได้มีการขยับตัวขึ้นสูงขึ้นทุกปี (ซึ่งแน่นอนว่าสวนทางกับรายได้ของมนุษย์เงินเดือนหลายๆท่าน

 

น้อยคนนักที่มักจะเลือกวิธีซื้อบ้านด้วยเงินสดก้อนโต เนื่องด้วยทุกวันนี้ราคาอสังหาฯ ได้มีการขยับตัวขึ้นสูงขึ้นทุกปี (ซึ่งแน่นอนว่าสวนทางกับรายได้ของมนุษย์เงินเดือนหลายๆท่าน ดังนั้นการยื่นกู้สินเชื่อบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ฝันอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองแบบที่ไม่ต้องเก็บเงินก้อนใหญ่ หลายปี แล้วตู้มเดียวแล้วจ่ายหมด แต่จะเป็นการทยอยจ่ายทีละก้อน โดยเมื่อยื่นสินเชื่อบ้านผ่านแล้ว ขั้นต่อมาที่ต้องเตรียมตัวคือการรับมือกับดอกเบี้ยบ้านที่หากคำนวณตั้งแต่ต้นจรดปลายแล้วบางครั้งดอกเบี้ยบ้านอาจมีราคาสูงเกือบๆ เท่ากับราคาบ้านได้เลยทีเดียว

วันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของเงินกู้อัตราดอกเบี้ยเบื้องต้นประเภทต่างๆ มาเป็นความรู้ให้คุณผู้อ่านได้ศึกษากันก่อน เพื่อที่จะได้รู้ทันว่าเงินกู้แบบไหน ต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้านเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้วางแผนชีวิตได้ถูก และจะได้บริหารการเงินได้อย่างถูกต้องในอนาคต

เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan)

อัตราดอกเบี้ยคงที่ หมายถึง ตัวเลขเฉพาะของดอกเบี้ยที่จะอยู่คงที่ ไม่ขยับขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน โดยจะเป็นตัวเลขที่กำหนดไว้เท่าเดิมตลอดอายุสัญญาของเงินกู้ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เช่น หากมีการกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 5 เป็นเวลา 10 ปี เราก็จะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยบ้านเท่านั้นไปตลอดไป โดยจำนวนเงินนั้นจะไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด

เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan)

เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ ตามสถานการณ์ตลาดการเงินหรือต้นทุนของสถาบันการเงินนั้นๆ ซึ่งจะไม่มีการกำหนดจำนวนครั้งและช่วงเวลาที่แน่นอน ซึ่งบางปีอาจจะมีการปรับหลายครั้งแต่บางปีอาจจะไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเลย ซึ่งแน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนแบบนี้อาจส่งผลกระทบต่อการชำระเงินและดอกเบี้ยบ้านในแต่ละเดือนได้

เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover Mortgage Loan)

เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา หมายถึง เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง แล้วจะปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกๆ ระยะเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี ตลอดระยะเวลาที่ทำการกู้นาน 25-30 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในแต่ละช่วงก็จะคงที่เช่นกัน

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่อย่างเงินกู้อัตราดอกเบี้ยประเภทต่างๆ กันไปแล้ว หากใครที่กำลังวางแผนสำหรับการผ่อนบ้านให้ราบรื่น ไม่อยากต้องนั่งงมกับเรื่องดอกเบี้ยบ้าน และเอกสารมากมายที่น่าปวดหัวล่ะก็ เรามี 3 เทคนิครับมือกับการผ่อนบ้านมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างตามไปดูกันเลยดีกว่า

ประเมินกำลังของตัวเอง

อันดับแรกก่อนสำหรับการเตรียมตัวรับมือกับดอกเบี้ยบ้านคือ คุณจะต้องรู้ตัวและประเมินกำลังของตัวเองในระดับที่คิดว่าสามารถผ่อนไหว โดยหลักการคิดเบื้องต้นเลยคือค่าใช้จ่ายในการผ่อนงวดบ้านและดอกเบี้ยบ้านต้องรวมกันไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่ก็มีกรณียกเว้นเช่นกันหากคุณเป็นคนที่ไม่มีภาระหรือหนี้สินอะไรที่ต้องจ่ายต่อเดือนเลยก็จะสามารถคำนวณเพิ่มเป็น 50% ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าประเมินกำลังด้วยความซื่อสัตย์เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดนั่นอาจหมายถึงคุณจะต้องรับผิดชอบค่าผ่อนบ้านที่สูงมาก และหากผ่อนไม่ไหวหนี้ก้อนใหญ่ต้องตามมาอย่างแน่นอน

ใช้วิธีการรีไฟแนนซ์บ้าน

วิธีการรีไฟแนนซ์บ้านหรือเรียกง่ายๆ ว่าการขอสินเชื่อก้อนใหม่มาโปะหนี้ก้อนเดิมที่มีอยู่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้คุณจ่ายค่าดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำลงกว่าเดิมในครั้งแรก ซึ่งจะสามารถช่วยลดเงินต้นได้เร็วขึ้นเพราะดอกเบี้ยบ้านถูกลง ก็จะช่วยทำให้สามารถจัดสรรปันส่วนเงินไปโปะเงินต้นได้มากขึ้นนั่นเอง

ชำระเงินเกินและโปะเพิ่มทุกงวด

อีกหนึ่งวิธีที่อยากแนะนำสำหรับการผ่อนบ้านให้ราบรื่นสุดๆ คือการชำระเงินเกินทุกงวดเพราะจะช่วยทำให้ย่นระยะเวลาการผ่อนบ้านแถมยังลดในส่วนของดอกเบี้ยบ้านได้อีกด้วย หรือจะเลือกโปะเงินก้อนเพิ่มปีละครั้งก็ได้ด้วยเช่นกัน เช่น หากมีเงินโบนัสออกก็ให้นำเงินโบนัสมาโปะบ้านก็จะสามารถช่วยลดเวลาและดอกเบี้ยบ้านลงได้ด้วยเช่นเดียวกัน

เชื่อว่าหากใครที่มีการวางแผนบริหารการเงินมาเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ว่าในอนาคตอยากจะทำเรื่องการยื่นกู้สินเชื่อต่างๆ หรือการคำนวณอัตราดอกเบี้ยบ้าน เพื่อเตรียมเงินก้อนไว้จ่ายก็จะไม่เป็นปัญหาในอนาคต เพราะการวางแผนที่ดีจะทำให้คุณมีอิสรภาพทางการเงิน สามารถจัดการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่าย และมีเงินเก็บออม แถมยังไม่ต้องเคร่งเครียดกับการผ่อนบ้านและดอกเบี้ยบ้านมหาโหดที่จะตามมาในอนาคตอีกด้วย

3 ประเภทของดอกเบี้ยบ้านพร้อม 3 วิธีรับมือผ่อนบ้านในฝันแบบชิลๆ