posttoday

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู โรคใกล้ตัว อย่าปล่อยทิ้งไว้ รีบพบแพทย์ก่อนหูหนวกถาวร

31 ตุลาคม 2561

โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ชี้โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคใกล้ตัว หากมีอาการหูอื้อ มีเสียงในหู อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบพบแพทย์ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นคนหูหนวกถาวร

 

โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ชี้โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคใกล้ตัว หากมีอาการหูอื้อ มีเสียงในหู อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบพบแพทย์ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นคนหูหนวกถาวร

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคที่เกิดจากหินปูนมีการเจริญเติบโตผิดปกติในหูชั้นกลาง ทำให้เสียงไม่สามารถผ่านหูชั้นกลางเข้าไปในหูชั้นในได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือหูตึง และอาจเกิดเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ เนื่องจากมีหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นใน หรือหินปูนที่ผิดปกติในหูชั้นกลางปล่อยเอนไซม์บางชนิดเข้าไปในหูชั้นใน สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าโรคนี้มีแนวโน้มถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว พ่อ แม่ มีประวัติเป็นโรคนี้ และพบในคนอายุ 30 – 40 ปี โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ นอกจากนี้ยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อมากขึ้นได้ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด

นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคหินปูนเกาะกระดูกหู คือ ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ การได้ยินลดลง ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ และอาจถึงขั้นหูหนวก ไม่ได้ยินแม้เสียงตะโกน บางรายอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือมีเสียงดังในหู โดยเริ่มจากหูข้างเดียวก่อนจนกระทั่งเป็นทั้ง 2 ข้าง วิธีการรักษาแพทย์จะทำการวินิจฉัยซักประวัติ และระยะเวลาที่เป็น ตรวจหู แยกโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการทางหูที่คล้ายกัน ส่งตรวจการได้ยินในระดับความถี่ต่างๆ และการทำงานของหูชั้นกลาง ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ โดยผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการได้ยินไม่มาก จะใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยขยายเสียงที่ได้ยิน ทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงดีขึ้น แต่หากพบว่าผู้ป่วยหูอื้อมากจนทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดมี 2 ลักษณะ คือ การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกโกลนที่หินปูนเกาะออกทั้งหมด แล้วใส่กระดูกเทียมแทน เพื่อทำหน้าที่ในการส่งผ่านเสียงแทนกระดูกที่มีหินปูนยึดติด ทำให้การได้ยินดีขึ้น และการผ่าตัดเอาบางส่วนของกระดูกโกลนออก ทั้งนี้การผ่าตัดมักจะทำเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยแพทย์จะผ่าตัดหูข้างที่มีปัญหามากกว่าก่อน อย่างไรก็ตามโรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคใกล้ตัว หากพบว่ามีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงในหู ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่ต้น อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน และกลายเป็นคนหูหนวกถาวร

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู โรคใกล้ตัว อย่าปล่อยทิ้งไว้ รีบพบแพทย์ก่อนหูหนวกถาวร

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู โรคใกล้ตัว อย่าปล่อยทิ้งไว้ รีบพบแพทย์ก่อนหูหนวกถาวร