posttoday

ยะลาเปิดงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีโชว์ของดี28ชุมชน

25 ตุลาคม 2561

ยะลาเปิดงานมหกรรมแสดงผลงาน "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" 28 ชุมชนของจังหวัด เพิ่มช่องทางจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการสินค้า OTOP จัดประกวดนักเล่าเรื่องชุมชนหัวข้อ "เชิญมาเที่ยวบ้านฉัน" ปลุกคนไทยเที่ยวเมืองไทย

ยะลาเปิดงานมหกรรมแสดงผลงาน "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" 28 ชุมชนของจังหวัด เพิ่มช่องทางจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการสินค้า OTOP จัดประกวดนักเล่าเรื่องชุมชนหัวข้อ "เชิญมาเที่ยวบ้านฉัน" ปลุกคนไทยเที่ยวเมืองไทย

นายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดงานมหกรรมแสดงผลงานระดับจังหวัด โครงการ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ภายใต้โครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ดำเนินการจัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานของ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" จำนวน 28  ชุมชน ทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า OTOP ใน "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" จำนวน 280 ผลิตภัณฑ์ ณ บริเวณเวทีกลางสนามโรงพิธีช้างเผือกเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" จำนวน 28 ชุมชน การแสดงผลงานของ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ต้นแบบระดับประเทศ ของจังหวัดยะลา ได้แก่ บ้านบ่อน้ำร้อน หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง นอกจากนี้ยังมีการประกวดธิดา OTOP นวัตวิถี การประกวดนักเล่าเรื่องชุมชน การประกวดภาพวาดจากนักเรียน ในหัวข้อ "เชิญมาเที่ยวบ้านฉัน" การสาธิตการทำอาหารพื้นถิ่น และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมจาก "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี"

รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงผลงานของ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" จังหวัดยะลา ทั้ง 28 ชุมชน ใน 8 อำเภอ ที่ผ่านกระบวนการในการพัฒนา ต่อยอด ปรับปรุง ในส่วนของบุคลากร ผลิตภัณฑ์ OTOP ศิลปวัฒนธรรม และสถานที่แหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่เป้าหมาย โดยได้นำมาแสดงเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในจังหวัดยะลา และจังหวัดใกล้เคียง

โครงการ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ภายใต้โครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”เป็นการพลิกโฉม OTOP หลังจากดำเนินงานมา 16 ปี เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านยุคการผลักดันสินค้า OTOP ออกจากชุมชน สู่การสร้างรายได้ตามความต้องการ โดยขายสินค้าอยู่ในชุมชน และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในชุมชน ด้วยการใช้เสน่ห์จากวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ เกิดการปรับปรุงเชิงระบบเพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระดับชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งถิ่นฐานออกไปหางานที่อื่น แต่สามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างสรรค์ความผาสุกในบ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน