posttoday

พม. นำคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ จ.สกลนคร ติดตามการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ

17 กันยายน 2561

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 นางถิรวดี พุ่มนิคม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 นางถิรวดี พุ่มนิคม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการในคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้ลงพื้นที่เป็นครั้งแรกในการติดตามผลโครงการที่ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมี คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการในคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศร่วมลงพื้นที่ ประกอบด้วย นางสุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ศ.ดร. อัญชลี มีมุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ นางนุจรีย์ เต็มรุ่ง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารกองทุนฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามและประเมินผลโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสกลนคร มีกลุ่มเป้าหมายเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) นักเรียน นักศึกษา สภาเด็กจังหวัดสกลนคร ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่และวิทยากรกว่า 120 คน เข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์ภูพาน ตำบลเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

นางถิรวดี พุ่มนิคม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี  กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ขึ้น เพื่อคุ้มครองและป้องกันเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด โดยมี กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ  ในการส่งเสริมให้หน่วยงานร่วมดำเนินการ รวมทั้งใช้ในการช่วยเหลือผู้ถูกเลือกปฏิบัติฯโดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณประจำปี งบประมาณ 2560 จำนวน 10 ล้านบาท และ ปี 2561 จำนวน 5 ล้านบาท

พม. นำคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ จ.สกลนคร ติดตามการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้วจำนวน 2 โคงการ เป็นเงิน 119,400 บาท ได้แก่ โครงการสร้างเสริมองค์ความรู้การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ จังหวัดชัยภูมิ โดยชมรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ (องค์กรสาธารณประโยชน์) วงเงิน 69,400 บาท และโครงการที่อนุกรรมการฯ ลงพื้นที่มาติดตามในวันนี้ คือ โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสกลนคร วงเงิน 50,000 บาท ซึ่งโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการมีความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เข้าใจเรื่องเพศสภาพ คนเราเกิดมาพร้อมกับอวัยวะเพศที่แตกต่างกันอันบ่งบอกถึงเพศ (Sex) หญิงและชาย แต่มิได้หมายความว่าแต่ละคนต้องแสดงบทบาทตามเพศเสมอไป ในทางกลับกันบทบาทของแต่ละเพศเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง ควบคุมและปลูกฝังโดยสังคม ให้แต่ละบุคคลมีการแสดงออก บทบาทและการปฏิบัติทางเพศที่ต่างกันออกไป และการขอรับความช่วยเหลือกรณีถูกเลือกปฏิบัติฯ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ขยายผล บอกต่อ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศให้ได้รับความคุ้มครอง ตลอดจนก่อให้เกิดกลุ่ม "เครือข่ายรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ จังหวัดสกลนคร" ได้อีกด้วย

ทางด้าน นางสาวสุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจติดตามในวันนี้ เป็นการติดตามที่มิใช่มุ่งจับจ้องหาข้อผิดพลาด แต่เป็นการติดตามเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประโยชน์และเป็นไปตามเจตนารมย์ของกองทุนฯ ซึ่งจากการติดตามในวันนี้ พบว่า โครงการนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ มีวิทยากรที่สามารถให้ความรู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศได้ มีทั้งการ Work Shop และวิชาการ ที่เชิญ นางฑิตา พิทักษ์สันติสุข รองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสกลนคร มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางด้านกฎหมายที่สามารถเข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ตลอดจนสิทธิของประชาชนตามกฎหมายต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ประกอบกับผู้เข้าร่วมโครงการมีความหลากหลายเป็นตัวแทนมาจากหลายภาคส่วน และต่างให้ความสนใจ จะเห็นได้จากการสนทนาโต้ตอบซึ่งกันและกัน เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้

พม. นำคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ จ.สกลนคร ติดตามการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ

สำหรับ ศ.ดร. อัญชลี มีมุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้กล่าวถึง รูปแบบการดำเนินโครงการที่มุ่งให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม และมีความคิดหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น กิจกรรมแบ่งกลุ่มวิเคราะห์หัวข้อ "สถานะเพศ : gender" (ร่ายกายฉัน, รสนิยมทางเพศ, ระดมความคิดเห็น และแบ่งกลุ่มการผลิตสื่อรณรงค์ "โปสเตอร์ทำมือสื่อสารเรื่องเพศ" ตลอดจนมีการ Focus Group นำเสนอหัวข้อ "เครือข่ายรณรงค์ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จังหวัดสกลนคร" ตามประเด็นต่าง ๆ เป็น 4 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานกิจกรรมบทบาทสมมุติ "คำดีที่อยากฟัง : คำไม่ดีที่ไม่อยากฟัง" 2) ฐานกิจกรรมแหล่งบริการให้ความช่วยเหลือ 3) ฐานกิจกรรมความรุนแรงในครอบครัว และ 4) ฐานกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งในทุกฐานกิจกรรมจะเชื่อมร้อยกับ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยมีคณะทำงานเพศวิถีศึกษาจังหวัดสกลนครและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม ซึ่งถือเป็นวิทยากรคุณภาพที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นอย่างดี

สุดท้าย คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการในคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้ฝากถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ประสงค์ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือ E-mail : [email protected] หรือ โทร 0 2642 7742 ได้ในเวลาราชการ หากจำเป็นเร่งด่วน สามารถโทรสายด่วนของ พม. ได้ที่หมายเลข 1300