posttoday

ภาคประชาสังคมร้องยูเอ็น-รัฐบาลรับผิดชอบปัญหาโลกร้อน

09 กันยายน 2561

เสียงจากสังคมไทยและนานาชาติเรียกร้องยูเอ็นและรัฐบาลรับผิดชอบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้น

เสียงจากสังคมไทยและนานาชาติเรียกร้องยูเอ็นและรัฐบาลรับผิดชอบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. เครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วโลกได้จัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกัน เพื่อเป็นการส่งเสียงเรียกร้องถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการจัดการกับโลกร้อน หรือ “RISE For Climate” พร้อมกันในหลายจังหวัดรวมถึงหน้าสำนักงานสหประชาชาติในกรุงเทพฯ

เครือข่ายฯ ได้ทำการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของประเทศไทยเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิง คาร์บอนหรือถ่านหิน สู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ และแนวทางป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบกับทุกคนในสังคม ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความเร่งด่วนที่สุดในปัญหานี้เพื่อย้ำถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนของภาคประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง

“จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิตและชุมชนเป็นอย่างมาก หลักๆ เกิดจากการละเลยและปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.5-2 องศาเซลเซียส ซึ่งขัดข้อตกลงปารีสที่เคยให้ไว้ รวมทั้งเสียงสะท้อนจากประชาชนที่เป็นกลุ่มที่โดยผลกระทบมากที่สุดก็ไม่เคยได้รับการฟังและใส่ใจ จึงอยากเรียกร้องให้การประชุมสหประชาชาติครั้งนี้ นำเอาเสียงสะท้อนจากกลุ่มนี้เข้าไปเป็นแนวทางหลักปฏิบัติการทำข้อตกลงร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรม” น.ส.วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์กร Climate Watch Thailand ได้กล่าวในกิจกรรมรณรงค์ RISE For Climate หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ที่กรุงเทพฯ

“เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการย้ายชุมชนบริเวณแหลมตาชีแล้วถึง 4 ครั้ง เนื่องจากเกิดการกัดเซาะและถอยร่นของหน้าดิน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้น้ำทะลสูงขึ้นและคลื่นลมแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้านและอาชีพประมงชายฝั่งเป็นอย่างมาก และอยากเรียกร้องให้ระดับนโยบายทบทวนถึงการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน เพราะไม่ว่าจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไหนในไทย ทุกคน ทุกชุมชนย่อมได้รับผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนซึ่งจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน” น.ส.ลม้าย มานะการ ผู้แทนเครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้จับตาโลกร้อน กล่าวจาก แหลมตาชี จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ร่วมกิจกรรมรณรงค์ RISE For Climate พร้อมกันทั่วโลก

ภาคประชาสังคมร้องยูเอ็น-รัฐบาลรับผิดชอบปัญหาโลกร้อน

สำหรับประเทศไทยมีองค์กร Climate Watch Thailand, องค์กร 350.org และภาคีติดตามเรื่องโลกร้อน(ACCC และ APWLD) จัดกิจกรรมนี้ที่แหลมตาชี จ.ปัตตานี โรงแรมรัตนปาร์ค อ.เมือง จ. พิษณุโลก จ.สุโขทัย และหน้าสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์กรย่อย (สมัยเพิ่มเติม) ในวันที่ 4-9 ก.ย.นี้ โดยหารือในประเด็นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การปรับตัว การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การเงิน และความรับผิดชอบของทุกประเทศทั่วโลก และเพื่อตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเร่งให้มีการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการปรับตัวของทุกประเทศ โดยเฉพาะการยุติการลงทุนและการใช้ถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีตัวแทนภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคมร่วม 2,000 คน จากกว่า 180 ประเทศเข้าร่วม เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน หรือ COP 24 ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ที่โปแลนด์ช่วงปลายปีนี้

ภาคประชาสังคมร้องยูเอ็น-รัฐบาลรับผิดชอบปัญหาโลกร้อน

ภาคประชาสังคมร้องยูเอ็น-รัฐบาลรับผิดชอบปัญหาโลกร้อน