posttoday

"กสศ." เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

07 กันยายน 2561

"กสศ." เดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ตามมาตรา 23 “พรบ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” เปิดข้อมูล “ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษา

"กสศ." เดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ตามมาตรา 23 “พรบ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” เปิดข้อมูล “ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษา

สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ โดยสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดสุรินทร์ยกกรณีศึกษา “ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ( iSEE )” ที่ค้นหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มเสี่ยง พร้อมระบบติดตามช่วยเหลือเยาวชนที่ออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกทักษะอาชีพตามความถนัด

นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ กสศ. ที่สนับสนุนให้ภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาประสบความสำเร็จ คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกภาคประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบวิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามบริบทของพื้นที่ตนเอง เช่นเดียวกับการเติบโตของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ขณะนี้มีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ที่เข้มแข็งจนนำมาสู่ การจัดตั้งกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือกองทุน 10 บาท ระดมความร่วมมือและงบประมาณจากคนเชียงใหม่เพื่อสนับสนุนเด็กเยาวชนยากจนและด้อยโอกาสให้มีโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้สำเร็จโดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว นี่คือต้นแบบของกลไกพิเศษ ที่กสศ.จะสนับสนุนให้เติบโตขึ้นทั่วประเทศ

"กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จะมีขึ้น จึงเป็นเวทีระดมความร่วมมือเพื่อต่อยอด ขยายผลข้อเสนอ แนวทางใหม่ๆ จากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา และที่จังหวัดสุรินทร์เป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 22 และครั้งที่ 4 ช่วงต้นเดือนกันยายน ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ กสศ.ยังเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น ที่ www.eef.or.th "

"กสศ." เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา


นางสาววลัยรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า ภายหลังขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น สำนักงาน กสศ.จะนำทุกประเด็นความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ต่อไป โดย กสศ.น่าจะมีผลงานใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนประมาณ 620,000 คนทั่วประเทศ ด้วยการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และมาตรการดูแลต่อเนื่องโดยครูและสถานศึกษา 2.X-ray พื้นที่ 15 จังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-18 ปี จำนวน 100,000 คน แรก ส่งต่อสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ที่สอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพของเด็กเป็นรายคน รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของตลอดแรงงานในแต่ละพื้นที่ ในอนาคตจะสามารถเป็นต้นแบบการทำงานให้ครบทั้ง 77 จังหวัดได้ในปีงบประมาณต่อไป 3.สนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพสำหรับนักเรียนยากจนระดับ ม.3 ที่มีศักยภาพสูง 12,000 ทุน โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีงานทำได้ทันที ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเยาวชนและครอบครัวออกจากกับดักความยากจน ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility)

"กสศ." เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับสพฐ. จัดทำข้อมูลสถานการณ์นักเรียนยากจนในภาคอีสาน โดยสำรวจจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) พบว่า 10 จังหวัดที่มีนักเรียนยากจนมากที่สุดได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยละ 54.95 จังหวัดศรีสะเกษ 52.64 จังหวัดมหาสารคาม 49.91 จังหวัดบุรีรัมย์ 49.75 จังหวัดร้อยเอ็ด 49.72 จังหวัดมุกดาหาร 48.33 จังหวัดอุบลราชธานี 47.28 จังหวัดยโสธร 45.68 จังหวัดสกลนคร 45.21 และจังหวัดสุรินทร์ร้อยละ 44.09

กสศ. ยังร่วมกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำ “ระบบหลักประกันโอกาสทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชนดอยโอกาสนอกระบบการศึกษา (Thai Out Of School Children Information System) สำรวจ สถานการณ์เด็กนอกระบบ ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดประกอบไปด้วย จังหวัดสุรินทร์ ชุมพร ตาก สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี และหนองคาย พบว่ามีจำนวนเด็กนอกระบบรวมกันทั้งสิ้น 120,899 คน โดยจังหวัดสุรินทร์มีเด็กและเยาวชนนอกระบบอายุระหว่าง 12-21 ปี มากที่สุด จำนวน 33,099 คน จากการประมวลผลข้อมูลยังพบว่า 5 ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาคือ 1.ไม่อยากเรียน เบื่อเรียน 2.ไม่มีทุนการศึกษา 3.เรียนไม่ไหว เรียนไม่ทันเพื่อน 4.ครอบครัวยากจนส่ง 5.เคยถูกทารุณกรรม ในขณะที่ 5 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กกลับไปเรียนต่อและไม่หลุดออกนอกระบบ ประกอบไปด้วย 1.ทุนการศึกษา 2.เงินช่วยเหลือ เงินสงเคราะห์ 3.ความเข้าใจ ใส่ใจของครู 4.ค่าเดินทาง 5.เลิกคบเพื่อนไม่ดี

"กสศ." เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

โดยในเวทีการรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทาง การดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ได้จัดขึ้นที่ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และได้มีการลงพื้นที่เพื่อนำเสนอกรณีศึกษา ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE) ที่ค้นพบและเข้าไปช่วยเหลือ ด.ญ.เกษจรินทร์ ทิศรักษ์ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 ของ โรงเรียน บ้านนาเกา อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ที่มีผลการเรียนดีมากแต่ครอบครัวมีฐานะยากจน พ่อและแม่พิการไม่สามารถทำงานได้ ต้องอาศัยรายได้จากพี่สาวที่ทำงานเพียงคนเดียวมี 300 บาทต่อวัน ดูแลพ่อแม่และส่งเรียน จนไม่สามารถที่จะศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตามที่ต้องการได้

และการค้นพบเด็กนอกระบบ ด.ญ.จรรยา คงศรี อายุ 15 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดกำแพง ที่ออกจากการศึกษากลางคันมานานหลายปี เพราะมีฐานะยากจนและอยู่ห่างไกลสถานศึกษา โดยได้มีการสอบถามความต้องการเพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด ซึ่งน้องจรรยาได้ตัดสินใจกลับเข้าเรียน กศน. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันและเพื่อให้มีเวลาในการช่วยครอบครัวหารายได้

"กสศ." เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

“กรณีของน้องเกษจรินทร์ จากโรงเรียนบ้านนาเกา และน้องจรรยา จากชุมนวัดกำแพง และเป็นตัวอย่างหนึ่งในเด็กไทยจำนวนกว่า 4.3 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนเพื่อให้ได้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นในรายบุคคล เพื่อให้มีโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาและพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งจะต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนและหน่วยจัดการเรียนรู้ ซึ่งในปีแรกของ กสศ.จะมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มที่ยากจนเป็นพิเศษจำนวน 5.7 แสนคนในระบบการศึกษา ควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนา BIG DATA หรือฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการค้นหา คัดกรอง และสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งติดตามกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ และมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้ง 6 กระทรวง เพื่อร่วมกันสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยตามพันธกิจของกองทุนฯ” นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สรุป.