posttoday

"เบทาโกร"ขยายผลโมเดล HAB ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างพื้นที่ต้นแบบ 17 แห่ง

23 สิงหาคม 2561

เบทาโกรขยายผลช่องสาริกาโมเดลชูแนวทาง HABพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน สร้างชุมชนต้นแบบที่มีคุณภาพชีวิตดี 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด ผ่านเครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม

เบทาโกรขยายผลช่องสาริกาโมเดลชูแนวทาง HABพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน สร้างชุมชนต้นแบบที่มีคุณภาพชีวิตดี 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด ผ่านเครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม
 
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development: HAB) โดยใช้เครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติร่วมในพิธี นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา 11 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนามฯ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ
 
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกชุมชนในพื้นที่เป้าหมายและให้บริการแก่สังคม เพื่อพัฒนาต้นแบบความร่วมมือระหว่าง ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และหน่วยงานภาครัฐ ในการนำรูปแบบการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมที่เป็นนวัตกรรม สู่การปฏิบัติในพื้นที่และการขยายผลในวงกว้าง รวมทั้งตอบสนองนโยบายการพัฒนาเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ (Area-based Approach) ของภาครัฐ โดยใช้แนวทาง “การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic–Area Based Community Development: HAB)” ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา ซึ่งนำ  “ช่องสาริกาโมเดล” แนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของเครือเบทาโกร ที่ได้นำเครื่องมือการจัดการ ด้านการเพิ่มผลผลิต (Productivity Management) เข้าไปช่วยชาวบ้านให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ในรูปแบบ Holistic – Area Based Community Development ชุมชนต้นแบบ (ชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี) อาชีพดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี สังคมดี โดยมีความรู้คู่คุณธรรม และแก้ไขปัญหาความยากจน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2550 ที่ ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงการพัฒนาแบบบูรณาการทั้ง 5 ด้าน สร้างกลไกการขับเคลื่อนในการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งประสบผลสำเร็จถือเป็นโมเดลต้นแบบ จึงมุ่งนำแนวคิดนี้ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

"เบทาโกร"ขยายผลโมเดล HAB ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างพื้นที่ต้นแบบ 17 แห่ง


 
สำหรับ โครงการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development: HAB) โดยใช้เครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม จะดำเนินโครงการในพื้นที่ปฏิบัติการ 17 พื้นที่ใน 12 จังหวัด ได้แก่ 1) ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี  2) บ้านดอนกลาง ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี  3) ตำบลนิคมลำนารายณ์และตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี  4) ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน  5) บ้านดอนแท่น ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน  6) บ้านทุ่งขาม ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 7) บ้านวังตาว ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน  8) คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  9) ตำบลคำพอุง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด  10) ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น  11) ตำบลห้วยแห้ง ตำบลตาลเดี่ยว และตำบลชำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  12) ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช  13) ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร  14) ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี  15) ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก 16) ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และ 17)ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ หลักวิชา ส่วนเบทาโกรทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการฯ ถ่ายทอดประสบการณ์และนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม และสนับสนุนงบประมาณ และทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมจัดทำชุดข้อมูล แผนงาน และคู่มือการดำเนินงาน สนับสนุนบุคลากรประสานงานในพื้นที่ ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อร่วมดำเนินโครงการฯ กับบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งจะมีการติดตามความก้าวหน้า รายงานผล พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงาน เผยแพร่ผลสำเร็จและบทเรียนของโครงการฯ โดยมีเป้าหมายขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไปอนาคต