posttoday

อพท.ผนึก9องค์กรนำแผนท่องเที่ยวพัฒนาชุมชน3จว.ชายแดนใต้

09 สิงหาคม 2561

อพท.ผนึก 9 องค์กร นำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ไปพัฒนาชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

อพท.ผนึก 9 องค์กร นำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ไปพัฒนาชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศอ.บต.  สสส.  จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เพื่อพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน  และส่งเสริมให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดการท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 8 หน่วยงาน และ อพท. เห็นตรงกันที่จะนำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand  ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไปใช้พัฒนาชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เนื่องจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  ได้เห็นผลสัมฤทธิ์ของ อพท. จากการนำแผน CBT Thailand  พัฒนาการท่องเที่ยวให้กับชุมชนในพื้นที่พิเศษแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  สามารถพิสูจน์ได้ว่า นอกจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนแล้ว ยังก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองความสมานฉันท์ และ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ประชาชนได้อีกด้วย

สำหรับ รูปแบบการทำงาน อพท. จะดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.กิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ 2. กิจกรรมศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3.กิจกรรมพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ 4.กิจกรรมสร้างการรับรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ กลุ่มเป้าหมายที่จะนำเข้าร่วมกิจกรรมคือ  ชุมชนท้องถิ่นในจ.ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา และนักวิชาการ โดยจะให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในระยะ 3 ปี

พ.อ.ดร. นาฬิกอติภัค กล่าวว่า ตลอด 15 ปี ของการดำเนินงาน ชุมชนต้นแบบที่ อพท. เข้าไปพัฒนามีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวโตถึง 38.5%  ระดับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนสูงถึง 86.36%  ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสชุมชนมีความสุขมาก 79.17%  มูลค่าเศรษฐศาสตร์ของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่พัฒนามีมูลค่าสูงแตะ 4.4939 ล้านล้านบาท ตอกย้ำการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างความสุข สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ได้อย่างเป็นรูปธรรม