posttoday

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" และ "จีซี"

26 กรกฎาคม 2561

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ "เชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน"

 

เปิดโครงการ เชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน ร่วมกันพัฒนาอาหารถิ่น และร้านอาหารชุมชนทั่วไทย พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกวิธี ส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงอาหารไทย (Gastronomy Tourism)

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ "เชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน"  โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารให้กับประเทศไทยในระดับมหภาคโดยยกระดับมาตรฐานอาหารไทยจากระดับชุมชน เพื่อเป็นสิ่งชูโรงดึงดูดการท่องเที่ยว พร้อมสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรม และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่

  1. กิจกรรมการพัฒนาฝึกอบรมองค์ความรู้เชฟชุมชน
  2. กิจกรรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี
  3. กิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการ
  4. กิจกรรมสนับสนุนอุปกรณ์เริ่มต้นแก่วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ

ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันโดยใช้อาหารเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดและกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน

โดยโครงการดังกล่าว ได้ต่อยอดการดำเนินงานโครงการเชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน by GC ซึ่ง GC ได้ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง ในการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบของดีในจังหวัด และค้นหาเมนูพื้นถิ่นจาก 8 พ่อครัวแม่หัวป่าก์ ตลอดจนรังสรรค์เมนูใหม่ให้กับจังหวัดระยอง เพื่อร่วมกันสร้างจุดหมายการท่องเที่ยวตามรอยอาหารพื้นถิ่นที่พลาดไม่ได้ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา  และจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นโมเดลแห่งการพัฒนาโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน ที่จะยกระดับการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ ตามนโยบายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร หรือ "Gastronomic destination" ให้เป็นหนึ่งในช่องทางการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" และ "จีซี"

ทั้งนี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า "เนื่องด้วยปัจจุบันพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากจะมีจุดหมายเพื่อพักผ่อน หรือเยี่ยมญาติ/ครอบครัวแล้ว กิจกรรมการกินไปพร้อมกับการท่องเที่ยวในทริปนั้นๆ ยังเป็นพฤติกรรมหลักที่พบเห็นกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ การได้ลิ้มรสอาหารที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ยังเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างความประทับใจในการเดินทางได้ไม่น้อย เนื่องจากได้มีโอกาสรับประทานอาหารที่หารับประทานไม่ได้ทั่วไป ซึ่งการต้องเดินทางไปยังที่นั้นๆเพื่อรับประทานอาหารพื้นถิ่นจึงเป็นการสร้างกระแสดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ เป็นการใช้อาหารเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดรายได้และกระจายไปยังชุมชนได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการจะเป็นกลุ่มคนสายกินเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งกลุ่มคนในช่วง Gen X และ Y ซึ่งนับเป็นกลุ่มหลักที่มีกำลังในการใช้จ่ายด้านอาหารและท่องเที่ยว พร้อมกันนี้โครงการยังได้มี การผนึกกำลังเหล่าเชฟชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมปฏิบัติการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน พัฒนาและสร้างสรรค์ร่วมกัน ได้แก่

1. เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย,
2. เชฟเดวิด ทอมป์สัน มิชลินสตาร์เชฟอาหารไทย
3.เชฟแอนดี้ ยังเอกสกุล มิชลินสตาร์เชฟอาหารไทย
4. มาดามนูรอห์ สเต้ปเป้ เชฟหญิงไทยผู้สร้างร้านอาหารไทย บลู เอเลฟเฟ่นท์ ให้โด่งดังไปทั่วโลก
5. อาจารย์วันดี ณ สงขลา อาจารย์แม่แห่งวงการอาหารไทย
6. วิพิทธิจักษ์ พิทยานนท์ ฟู้ดสไตลิสท์ไทยที่โด่งดังไปในระดับโลก
7.และเชฟสุรกิจ เข็มแก้ว เชฟรุ่นใหม่ไฟแรงแถวหน้าของประเทศ และเชฟระดับแถวหน้าอีกหลายท่าน

 การจัดทำ "โครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน จะเน้นการพัฒนา "เมนูเด็ดท้องถิ่น" ที่รังสรรค์โดยเชฟชุมชนผู้ซึ่งได้รับการพัฒนาให้สามารถปรุงอาหารตามมาตรฐานเชฟสากล และยกระดับเป็นเมนูเด็ดของประเทศที่มีความน่าดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาลิ้มลอง โดยจะมีการโปรโมตผ่านสื่อทั้ง offline และ online ของโครงการ รวมถึงมุ่งเน้นการทำการตลาดเชิงรุกร่วมกับสื่อพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศทั้งสื่อดิจิตอลและกิจกรรมอีเว้นท์ โดยความร่วมมือของสื่อพันธมิตรต่างๆ ได้แก่ บริษัทวงในมีเดียร์  E-Global Media, Travel Index ฯลฯ"

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที  โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า  "ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม GC มีความมุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในปัจจุบันนับเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหาร  ในครั้งนี้ GC จึงให้การสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พร้อมส่งเสริมให้เชฟชุมชนสามารถบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีได้แก่  การใช้ Single Used Plastic ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการเลือกบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว(Single Used Plastic) ในชุด Bio packaging Benjarong Collection ประกอบด้วย แก้ว ถ้วย และถาดใส่อาหาร ซึ่งเป็นนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ โดยนำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบ เหมาะสมต่อการใช้งานเพื่อทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วไป โดยมีประสิทธิภาพทัดเทียมพลาสติกทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" และ "จีซี"

ทั้งนี้ GC มุ่งหวังที่จะรณรงค์การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เกิดการใช้ซ้ำ  ลดการใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติก เหมาะสมต่อการใช้งานในการจำหน่ายอาหาร ณ ร้านอาหาร พร้อมมีการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับ "การใช้พลาสติกอย่างถูกวิธี" บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความตระหนักต่อการบริโภคเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค เช่น  ภาชนะกล่องอาหารแบบฝาปิด ที่สามารถใช้ซ้ำ และสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัย แม้ต้องใช้การอุ่นด้วยไมโครเวฟ  เป็นต้น

นอกจากนี้ GC ยังได้ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน โดยร่วมสนับสนุนให้มีการพัฒนาอาหารเมนูพื้นถิ่นดั้งเดิม และพัฒนาสูตรอาหารเมนูใหม่ รวม 60 เมนู ให้มีมาตรฐานทั้งในด้านรสชาติ ภาพลักษณ์ และมีความดึงดูดใจต่อผู้บริโภค พร้อมนำมาประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติกของ GC  ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้ ด้านอาหารปลอดภัย การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ พร้อมจัดทำชั้นวางจำหน่ายสินค้าอาหารชุมชนในโครงการ ด้วยวัสดุกล่องนมรีไซเคิล หรือ Eco Board มอบให้กับทุกร้าน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

โดยนอกเหนือจากการยกระดับอาหารพื้นถิ่นให้เป็นสิ่งชูโรงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน โครงการดัง กล่าวยังได้พัฒนาขึ้นโดยหลักการดังนี้

  1. มุ่งการสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารโดยการจัดตั้งร้านอาหารเชฟชุมชนทั่วประเทศครอบ คลุมพื้นที่บริเวณ 5 ภาคได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และเขตจังหวัดชายแดนจำนวนรวม 30 ร้านอาหารชุมชนที่มีศักยภาพในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวผ่านความร่วมมือขององค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ภายในเดือนธันวาคม 2561
  2. พัฒนาหลักสูตรร้านอาหารชุมชน 4.0 และถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการปฏิบัติการฝึกอบรมในหมวดต่างๆ ได้แก่หมวดอาหารถิ่น จำนวน 50 เมนู หมวดเมนูอาหารไทยและเครื่องดื่มสำหรับนักท่องเที่ยว (Amazing Thai Taste) จำนวน 10 เมนู รวมถึงหมวดการตกแต่งอาหารและการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกวิธีร่วมกับทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
  3. พัฒนาสินค้าของฝากจากชุมชนให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ โดยสร้างสรรค์จากวัตถุดิบในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการรณรงค์การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อยืดอายุของอาหารสินค้าของฝาก เป็นต้น

โครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดโครงการอย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมเปิดโครงการพร้อมทั้งมีการเปิดตัวเชฟประจำโครงการทั้ง 10 คน