posttoday

สนพ. สรุปข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่จากทุกภาคส่วน

14 กรกฎาคม 2561

กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ดำเนินการจัด "การเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็น Open Forum และรับทราบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan)

กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ดำเนินการจัด "การเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็น Open Forum และรับทราบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ของประเทศไทย PDP ฉบับใหม่" ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนครอบคลุมไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการเอกชน นักวิชาการ ตลอดจน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ทั้งนี้ สนพ.ได้ประมวลประเด็นสำคัญๆ ส่วนหนึ่งที่ได้จากเวทีแลกเปลี่ยนและรับทราบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผน PDP ฉบับใหม่

โดยสรุปเบื้องต้นแบ่งข้อเสนอแนะเป็น 4 ด้านคือ ข้อเสนอแนะ

ด้านแนวทางและหลักการจัดทำแผน PDP ด้านความมั่นคง (Security) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ดังนี้ ข้อเสนอ

สนพ. สรุปข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่จากทุกภาคส่วน

ด้านแนวทางและหลักการจัดทำแผน PDP อาทิ

⦁ คำนึงถึงแต่ละประเด็นเท่าเทียมกัน สมดุลทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

⦁ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Forecast) ควรรวมตัวเลขผลิต ไฟจากโซลาร์รูฟท็อปด้วย

⦁ Disruptive Technology ควรเป็นประเด็นหลักของการจัดทำแผน

⦁ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปให้ชัดเจน

⦁ ให้มีนวัตกรรมสำหรับผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง

⦁ กำหนดค่าไฟฟ้าตามรูปแบบการใช้ไฟฟ้า เช่น ให้สิทธิ์พื้นที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าถูกกว่า หรือคิดตามเชื้อเพลิง

⦁ แนวคิด ‘ใครใช้ใครจ่าย’

⦁ จัดทำความต้องการใช้ไฟฟ้ารายภูมิภาค

⦁ การใช้ End User มาประกอบการจัดทำแผนฯ ต้องเก็บข้อมูลจำนวนมากและใช้ระยะเวลา คล้ายการทำสำมะโนประชากร ผลดีจะมีข้อมูลที่ชัดเจนและเห็นข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ

⦁ การใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายในแผนฯ

⦁ มีแผนสำรองรองรับเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

⦁ การใช้มาตรวัดเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบกันได้

⦁ การเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเดิม

⦁ การจัดทำ Energy Big Data

⦁ สนับสนุนเป็น Energy Hub

⦁ นำประเด็นระดับสากลเข้ามาพิจารณา อาทิ ข้อมูลจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) จากสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมฯ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อเสนอ ด้านความมั่นคง (Security) อาทิ

⦁ ปรับลดปริมาณสำรอง (Reserve Margin) ให้เหมาะสมเพื่อประหยัดต้นทุน

⦁ นำแผนด้านการอนุรักษ์พลังงาน(EE) และแผนด้านพลังงานทดแทน(RE) ที่มีสถิติชัดเจนมาพิจารณาร่วมด้วย

⦁ แบ่งสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนให้เหมาะสม

⦁ แต่ละภาคควรมีโรงไฟฟ้าหลัก

ข้อเสนอ ด้านเศรษฐกิจ (Economy) อาทิ

⦁ ไม่ควรดูเรื่องต้นทุนราคาถูกด้านเดียว ควรดูหลายมิติ เพราะ โรงไฟฟ้าแต่ละประเภทแตกต่างกัน และยังมีมิติด้านการ จ้างงาน การกระจายรายได้ภูมิภาค

⦁ เปิดให้เอกชนแข่งขันมากขึ้น

⦁ ตั้งตลาดกลางรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนดึงค่า Merit Order (การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดก่อน) ให้มีสัดส่วนให้สูงขึ้น จากเดิมสัดส่วนหลักอยู่ที่ Must Run (การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า) และMust Take (การเดินเครื่องตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน)

ข้อเสนอ ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) อาทิ

⦁ ให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับต้นๆ

⦁ สนับสนุนการเชิญทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ

⦁ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนมากขึ้น

⦁ โรงไฟฟ้าที่เกิดใหม่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ประเด็นข้อเสนอแนะและความคิดเห็นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง โดยทาง สนพ. ยังเปิดช่องทางเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Energy Empowerment ซึ่งภายหลังจากนี้ สนพ. จะทำการสรุปนำประเด็นต่างๆ รวมถึงแนวนโยบายการจัดทำแผนฯ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมอบหมายมาประมวลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดเป็นร่างแนวทางการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ ก่อนที่จะนำร่างฯ ดังกล่าวเดินสายรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป

สนพ. สรุปข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่จากทุกภาคส่วน