posttoday

จุฬาฯ จับมือ GC ลงนามความร่วมมือ สนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพ BioPBSTM มุ่งสู่การจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในรั้วจุฬาฯ

13 กรกฎาคม 2561

วันนี้ (10 กรกฎาคม 2561) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

วันนี้ (10 กรกฎาคม 2561) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC สนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในรั้วจุฬาฯ อย่างครบวงจร   ตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบการจัดการขยะของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ  ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่จุฬาฯ เนื่องด้วยมีจำนวนนิสิตและบุคลากร กว่า 40,000 คน จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืน หรือ โครงการ Chula Zero Waste เพื่อดำเนินการลดปริมาณการเกิดขยะ  การคัดแยกขยะ และการสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับนิสิตและบุคลากร โดยจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ GC ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยนำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่หรือ BioPBSTM เช่น แก้ว  Zero-Waste Cup ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้100% มาใช้ในจุฬาฯ โดยในปี 2561 มีเป้าหมายเริ่มต้นใช้ในโรงอาหารทั้งหมด 17 แห่ง ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 170,000 ชิ้นต่อเดือน หรือ 2 ล้านใบต่อปี จุฬาฯ ได้สร้างระบบการจัดการแก้ว Zero-Waste Cup อย่างครบวงจร โดยการคัดแยก แก้ว Zero-Waste Cup ที่ใช้งานแล้ว นำไปฝังกลบในสภาวะปุ๋ยหมักให้เกิดการย่อยสลาย เพื่อนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดิน นับเป็นการบริหารจัดการขยะแบบ Closed-Loop Bioplastic Management ที่แรกในประเทศไทย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งความ ท้าทายที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยได้พัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ โดย นำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBSTM ใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ โดยประสิทธิภาพในการใช้งานทัดเทียมพลาสติกทั่วไป แต่สามารถย่อย

สลายได้ตามธรรมชาติ เช่น การใช้ BioPBSTM มาเคลือบกระดาษและผลิตเป็นแก้ว ซึ่งจะทำให้แก้วกระดาษทั้งใบสามารถย่อยสลายได้ทุกส่วน และยังคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ การย่อยสลายตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้ในสภาวะปุ๋ยหมัก โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงหมักอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

ความร่วมมือในโครงการ นี้ GC สนับสนุนจุฬาฯ ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม Zero-Waste Cup ซึ่งผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ BioPBSTM ที่สามารถย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน นอกจากนี้ GC ยังร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับ ชาวจุฬาฯ และชุมชนรอบข้างเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยเริ่มจากการคัดแยก การจัดเก็บ การรีไซเคิล และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน