posttoday

ศมส.รุกแปลงเอกสารโบราณสู่เอกสารดิจิทัลให้คนยุคใหม่เข้าถึงง่าย

09 กรกฎาคม 2561

เมื่อเร็วๆ นี้ ศมส.ได้ลงพื้นที่วัดคงคาราม ในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในการสำรวจเอกสารโบราณโดยเฉพาะคัมภีร์ใบลาน ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ชั้นดีที่คนรุ่นก่อนได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้

 

นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(ศมส.) (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศมส.ได้ลงพื้นที่วัดคงคาราม ในอำเภอโพธาราม  จังหวัดราชบุรี   ในการสำรวจเอกสารโบราณโดยเฉพาะคัมภีร์ใบลาน ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ชั้นดีที่คนรุ่นก่อนได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ โดยปัจจุบันนี้ จารึกในคัมภีร์ หรือเอกสารโบราณต่างๆหากไม่ทำการบันทึกให้อยู่ในรูปแบบเอกสารดิจิทัล ก็จะเสื่อมสลายและสูญหายไปในที่สุด  โดย การรวบรวมเอกสารโบราณบันทึกเป็นเอกสารดิจิทัล เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านเอกสารโบราณนั้น ถือว่า เป็นภารกิจสำคัญของศมส. ที่จะรักษาฐานข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรม วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นไว้ ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา

นายพีรพน กล่าวต่อไปว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามนั้น ก่อตั้งในปี 2542 โดยใช้กุฏิ 9 ห้อง ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทยที่ใหญ่และงามที่สุดแห่งหนึ่ง จัดเป็นที่แสดงโบราณวัตถุ  ต่อมาปี 2554 ศมส. ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน โดยมีผู้ทรงความรู้เรื่องผ้ามาให้ความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจประชาชนชาวคงคารามเป็นอย่างดี จนเกิดเป็นความร่วมมือด้านการอนุรักษ์เอกสารโบราณร่วมกับศมส. ในการบันทึกเป็นเอกสารดิจิทัลให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา และเพื่อป้องกันการสูญหายในอนาคต

ศมส.รุกแปลงเอกสารโบราณสู่เอกสารดิจิทัลให้คนยุคใหม่เข้าถึงง่าย

นายดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการศมส.  กล่าวว่า ฐานข้อมูลเอกสารโบราณในรูปแบบของสำเนาดิจิทัล จะเป็นการเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่เอกสารโบราณเหล่านี้ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเอกสารโบราณได้ง่ายขึ้น ซึ่งศมส.ได้เริ่มต้นจัดทำทะเบียน และทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ วัดคงคาราม  ในปี 2559 เพื่อนำขึ้นเผยแพร่ให้บริการในฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย  ซึ่งขณะนี้นักวิชาการได้เข้าไปทำทะเบียน และทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ เป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยในการทำสำเนาดิจิทัลครั้งนี้ นักวิชาการได้เลือกวรรณกรรมที่คล้ายคลึงวรรณกรรมของพระอาจารย์อะเฟาะ พระภิกษุชาวมอญ หงสาวดี ผู้สร้างวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงไว้หลายเรื่อง เช่น โลกสิทธิ เป็นต้น มาทำสำเนาดิจิทัล ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องเร่งอนุรักษ์ รักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

ศมส.รุกแปลงเอกสารโบราณสู่เอกสารดิจิทัลให้คนยุคใหม่เข้าถึงง่าย