posttoday

การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม

13 มิถุนายน 2561

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่

 

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง และในระยะ 3 เดือน คือพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2561 และคาดว่าปริมาณฝนรวมของประเทศจะสูงกว่าปกติ กรมฯ จึงเห็นว่า เพื่อเป็นการบูรณาการประสานการปฏิบัติ ตลอดจนกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ อปท. ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ทั้งการเตรียมการก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย และการดำเนินการหลังเกิดภัย

อธิบดีกล่าวต่อว่า ทางด้านการเตรียมการก่อนเกิดภัย ก็ให้ อปท. พิจารณาตั้งงบประมาณรายจ่าย งบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย ให้เพียงพอต่อการเผชิญเหตุสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และให้นำเงินสำรองจ่ายดังกล่าวไปใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบสาธารณภัย เป็นลำดับแรก ให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก พร้อมทั้งประสานหน่วยงานของกรมชลประทาน หรือหน่วยงานทางวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญร่วมตรวจสอบและหากพบความผิดปกติให้เร่งปรับปรุงแก้ไขโดยทันที รวมถึงอาคารควบคุมน้ำ วัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องสูบน้ำ ให้สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดภัย และให้ซักซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้เกิดทักษะและความคล่องตัวในการปฏิบัติ สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังให้มีอาสาสมัครเตือนภัยประจำชุมชน "มิสเตอร์เตือนภัย" จัดหาเครื่องหมายอาณัติสัญญาณแจ้งเตือนภัย และที่สำคัญให้ อปท. ดำเนินการขจัดสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ การกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำลำคลอง และจัดหาพื้นที่รองรับน้ำ (แก้มลิง) เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย

ทางด้านการดำเนินการขณะเกิดภัย ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเป็นศูนย์ประสานงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตัวเองตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินงบประมาณที่ได้เตรียมไว้ไปใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอก็ให้โอนเงินงบประมาณเหลือจ่าย หรือเงินงบประมาณในแผนงาน/โครงการอื่นที่ยังไม่มีความไปตั้งจ่ายเพิ่มเติมได้ และหากเงินงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าวยังไม่เพียงพออีก อาจขออนุมัติผู้บริหารท้องถิ่นจ่ายขาดเงินสะสมไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงฐานะทางการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ

นอกจากนี้ ให้จัดหาน้ำสะอาด เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการอุปโภคบริโภค ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ หรือครุภัณฑ์ สำหรับผลิตน้ำสะอาด เพื่อบริการประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และให้เร่งดำเนินการอพยพประชาชนที่ประสบภัย หรือคาดว่าจะประสบภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมทั้งจัดระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้พร้อม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิติและทรัพย์สินของประชาชนเป็นลำดับแรก

และสำหรับการดำเนินการหลังเกิดภัยนั้น ให้เร่งสำรวจความเสียหายจากอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่โดยด่วน และประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ โดยจัดระเบียบและกำหนดพื้นที่การช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและเสมอภาค ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ดำเนินการทำความสะอาด เก็บสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย ที่มาจากอุทกภัย เพื่อให้เกิดความสะอาดและเป็นการป้องกันโรคระบาด รวมถึงกำชับยามท้องถิ่น และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของทางราชการ ประชาชนและผู้ประสบภัย ไม่ให้มีการโจรกรรมและลักขโมย ตลอดจนเร่งฟื้นฟู และส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ประสบภัย โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพ และเป็นการป้องกันการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่ด้วย