posttoday

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี "จอบแรกที่ตราด"

31 พฤษภาคม 2561

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

 

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี "จอบแรกที่ตราด" ขับเคลื่อนและขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพัฒนากสิกรรมธรรมชาติ และบรรยายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการทำโคกหนองนาด้วยศาสตร์พระราชา โดยมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมบรรยายด้วย ณ โรงเรียนตราษตระการคุณ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

ดร.วิวัฒน์ กล่าวต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ศาสตร์ของพระราชาเป็นสิ่งมหัศจรรย์และมีมากมาย และมีหลายพระองค์ ของพระองค์แรกที่ได้เรียนรู้คือ ศาสตร์ของพ่อขุนเม็งราย เรื่องการทำฝายน้ำที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน พระองค์ที่ 2 ที่ได้เรียนรู้ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีอยู่มากมาย ที่สำคัญคือ เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำมาดำเนินการในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล ที่ผสมผสานศาสตร์ของพระราชาหลายศาสตร์มาปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราชญ์ของแผ่นดิน ที่ ดร.ประเวศ วะสี ได้กรุณาเตือนว่าภายใน 3 ปี จะมีคนตกงานมากถึง 70% เพราะฉะนั้น ขอให้เร่งดำเนินการให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ตามแบบบรรพบุรุษ และที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสอนไว้เรื่องการเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่าให้เร่งสร้างเกษตรพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แบบพอมีพอกิน เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือสงคราม เราก็จะสามารถอยู่รอดด้วยตัวเองได้

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวขอบคุณท่าน ดร.วิวัฒน์ (รมช.กษ) และคณะมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ท่านคณาจารย์โรงเรียนตราษตระการคุณ ที่ให้ความสำคัญต่อการนำเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาดำเนินการเพื่อส่งผ่านความรู้ของโคกหนองนาโมเดล สู่เด็กนักเรียนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ ต้องดูแลประเทศชาติต่อจากพวกเรา ให้สามารถดูแลช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ ได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ศาสตร์แห่งพระราชาไม่ใช่ศาสตร์ที่นิ่งและตายตัว หากแต่เป็นปรัชญาและทฤษฎีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม สภาพบุคคล และสถานการณ์ มีความทันสมัยเหนือกาลเวลาได้ตลอดเวลา ดังนั้นแต่ละคนก็อาจจะได้เคยเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปได้ ซึ่งหากได้นำมาปฏิบัติตามก็ล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติได้ทั้งสิ้น แนวคิด โคก หนอง นาด้วยศาสตร์พระราชา จึงเป็นโมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติน้อมนำพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านได้อย่างสอดคล้องกัน โดยเป็นการจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับพื้นที่การเกษตร การผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ ถือเป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี "จอบแรกที่ตราด"

โคก หนอง นา โมเดล คือ รูปธรรมของหลุมขนมครก ซึ่งเรียกให้ง่ายต่อการจดจำ โดย "โคก" จะเป็นการนำดินที่ได้จากการขุดหนอง นำมาถมเป็นโคกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา คือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้เพื่อบริโภค (พอกิน) เพื่อใช้สอยในครัวเรือน (พอใช้) และเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย (พออยู่) ป่าทั้ง 3 อย่าง ให้ประโยชน์อย่างที่ 4 คือช่วยสร้างสมดุลระบบนิเวศ (พอร่มเย็น) ปลูกเป็นป่า 5 ระดับคือ สูง กลาง เตี้ยเรี่ยดิน และพืชหัว ใบไม้ที่ร่วงหล่นช่วยปกคลุมหน้าดินเพิ่มความชุ่มชื้น น้ำใต้ดินที่สะสมไว้ใต้โคก เมื่อฝนตกลงมาบนโคกที่มีต้นไม้จำนวนมาก น้ำจะค่อยๆ ไหลซึมลงมาเก็บไว้ใต้โคก รากต้นไม้ซึ่งต่างระดับกันจะช่วยรักษาหน้าดิน และกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน ช่วยสร้างความชุ่มชื้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นดิน สำหรับ "หนอง" คือการขุดหนองให้ขอบมีความคดโค้ง เพื่อให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลา ปรับพื้นหนองให้มีความลึกหลายระดับ ส่วนที่แสงแดดส่องถึง ปลาจะสามารถวางไข่ได้ดี คลองไส้ไก่ ช่วยกระจายน้ำรอบพื้นที่ ขุดให้มีลักษณะคดเคี้ยวเพื่อให้น้ำไหลผ่านทั่วพื้นที่ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน ส่งผลดีต่อการทำเกษตรและการปลูกพืชผล ฝายชะลอน้ำ รับและชะลอน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำหรือพื้นที่ข้างเคียง ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงมาสะสมในหนอง คลอง บึง และเขื่อน นอกจากนั้น ยังเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ และ "นา" เป็นการยกหัวคันนา เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ในนา โดยให้มีความสูงประมาณ 1 เมตร และปั้นหัวคันนาให้มีความกว้างเพื่อปลูก "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" และปลูกแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของคันนา คันนาจะใช้เป็นเครื่องมือในการปรับระดับน้ำเข้านาตามความสูงของต้นข้าว เกิดเป็นนาน้ำลึก ใช้น้ำในการควบคุมวัชพืชและแมลงตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

แนวคิด โคก หนอง นา โมเดลนี้ ถือเป็นแนวคิดและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพชีวิตคนไทยที่มีเกษตรกรเป็นฐานรากของสังคม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทางวิชาการต่างๆ ถูกนำมาปรับเป็นคำพูดที่ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปถ่ายทอดแก่ชาวนาเพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อพื้นฐานชีวิตมีมาตรฐานมีความมั่นคงแล้ว ชีวิตคนไทยจึงจะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงอยากส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้ในชีวิตจริง หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตามโครงการ "โคก หนอง นา โมเดล" ใช้วิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันจะส่งผลให้คนในสังคมมีความสุขและเข้มแข็ง มั่นคงอย่างยั่งยืน เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้สังคมไทยมีเสถียรภาพ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ และที่สำคัญ การพัฒนาท้องถิ่นต้องนำความสุขความเจริญและความเข้มแข็งลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการน้อมนำวิธีการของศาสตร์พระราชาอันทรงคุณค่า คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา รวมถึงการปรับประยุกต์ใช้ปรัชญาและทฤษฎีต่างๆ ของศาสตร์พระราชา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวมอย่างมั่นคงต่อไป นายสุทธิพงษ์กล่าว

ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2561