posttoday

กฟน. นำร่องแก้ไขปัญหาสายสื่อสารสำเร็จด้วยระบบแผนที่ GIS ห้ามลักลอบพาดสายสร้างความปลอดภัย ปชช.

28 มีนาคม 2561

เนื่องจากแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ที่มีแผนระยะ 5 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 214.6 กิโลเมตร นั้น สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน กฟน. จึงได้ดำเนินโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อสร้างทัศนียภาพ

 

วันนี้ (28 มีนาคม 2561) นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย ผู้แทนจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบสายสื่อสารปี 2561 ณ บริเวณ ถนนพลับพลาไชย

นายประสงค์ คุ้มประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า เนื่องจากแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ที่มีแผนระยะ 5 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 214.6 กิโลเมตร นั้น สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน กฟน. จึงได้ดำเนินโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อสร้างทัศนียภาพ และการป้องกันอันตรายจากปัญหาสายสื่อสาร ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ และแก้ไขปัญหาสายสื่อสารติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน สายห้อยต่ำ ไม่เป็นระเบียบ รวมถึงการลักลอบพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยวันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารปี 2561 ในพื้นที่นำร่อง ซึ่งประกอบด้วย ถนนพลับพลาไชย (ตั้งแต่แยกพลับพลาไชย - แยกถนนบำรุงเมือง) และถนนหลวง (ตั้งแต่แยกนพวงศ์ - แยกพลับพลาไชย) รวมระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่ง กฟน. ได้เริ่มติดตั้งคอนไม้เพื่อรองรับการพาดสายสื่อสาร เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ซึ่งพบว่าได้ดำเนินการแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 70 คาดเสร็จสิ้นตามแผนงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้ โดยได้ติดตั้งสายสื่อสารเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งขั้นตอนดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารของ กฟน. ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย การปลดสายสื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้ใช้งานออกจากเสาไฟฟ้า การพาดสายสื่อสารบนคอนไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่มีส่วนประกอบของวัสดุเหนี่ยวนำไฟฟ้า ตลอดจนการบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแผนที่ฐานเชิงรหัส (แผนที่ดิจิทัล) ของ กฟน. มีมาตราส่วน 1:1000 สารสนเทศเชิงพื้นที่ (Spatial Map) ที่ทันสมัยได้มาตรฐานมีความละเอียดและแม่นยำสูง เพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลสายสื่อสารที่พาดผ่านเสาไฟฟ้าแต่ละต้น เพื่อป้องกันการลักลอบพาดสายสื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาตและตรวจสอบได้ ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชน และสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงาม อีกทั้งในอนาคต กฟน. ยังได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำมาใช้ในการจัดระเบียบสายสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กฟน. นำร่องแก้ไขปัญหาสายสื่อสารสำเร็จด้วยระบบแผนที่ GIS ห้ามลักลอบพาดสายสร้างความปลอดภัย ปชช.  

ทั้งนี้ แผนดำเนินโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารปี 2561 ของ กฟน. มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 23 เส้นทาง รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร โดยพื้นที่ต่อไปที่จะดำเนินการจัดระเบียบ คือ ถนนเพชรบุรีฝั่งเหนือ (ถนนพญาไท - ทางด่วน) รวมถึงจะดำเนินการต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ ถนนพระราม 4, ถนนประชาชื่น ฝั่งขาเข้า, ถนนบรมราชชนนี ขาออก, ถนนประชาอุทิศ, ถนนสุทธิสารวินิจฉัย, ถนนบรมราชชนนี ขาเข้า, ถนนปรีดีพนมยงค์, ถนนพหลโยธิน, ถนนร่มเกล้า, ถนนพระราม 1, ถนนเอกชัย, ถนนติวานนท์, ถนนศรีนครินทร์, ถนนนิมิตใหม่, ถนนนาคนิวาส, ถนนกรุงเกษม, ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และถนนอ่อนนุช โดยทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2561

กฟน. 60 ปี ก้าวสู่วิถีอนาคต

Leveraging beyond Tomorrow

กฟน. นำร่องแก้ไขปัญหาสายสื่อสารสำเร็จด้วยระบบแผนที่ GIS ห้ามลักลอบพาดสายสร้างความปลอดภัย ปชช.