posttoday

สถาบันโรคทรวงอกจัดกิจกรรมวันวัณโรคโลก เสวนาให้ความรู้วิชาการ แนะประชาชนตื่นตัวรู้เท่าทันวัณโรค ห่างไกลเชื้อวัณโรคดื้อยา

21 มีนาคม 2561

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันวัณโรคโลก ปี 2561 แนะประชาชนตื่นตัวรู้เท่าทันวัณโรค ห่างไกลเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยา

 

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันวัณโรคโลก ปี 2561 แนะประชาชนตื่นตัวรู้เท่าทันวัณโรค ห่างไกลเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยา

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรค คือโรคติดต่อที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุดคือ วัณโรคปอด โดยผู้ป่วยวัณโรคปอดจะมีอาการไข้ต่ำๆในเวลาบ่าย หรือเวลาเย็น ไอแห้งๆ และเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง เหงื่อออกตอนกลางคืน การตรวจพบวัณโรคปอด สามารถวินิจฉัยจากการเอกซเรย์ปอด จนพบรอยแผลที่เนื้อปอด ซึ่งเกิดจากการกัดกินของเชื้อวัณโรค และจากการตรวจเสมหะผู้ป่วยด้วยการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทั้งนี้แหล่งแพร่กระจายเชื้อที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยวัณโรคปอด โดยการแพร่กระจายมีลักษณะคล้ายไข้หวัด ซึ่งเชื้อวัณโรคจะถูกขับออกจากการไอ จาม ถ่มน้ำลาย และขากเสมหะ จากผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอด ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นติดเชื้อวัณโรคจากการหายใจและรับเชื้อที่ล่องลอยในอากาศ เข้าสู่ปอด สำหรับแนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรค คือ ผู้ป่วยควรปิดปากและจมูกทุกครั้ง เวลาไอหรือจาม ไม่ทานอาหารและไม่นอนร่วมกับผู้อื่น แยกซักเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และตากแดดจัด แยกทำลาย ขยะที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ของใช้ของผู้ป่วยควรฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เช่น ลวก ต้ม และตากแดดจัด

สถาบันโรคทรวงอกจัดกิจกรรมวันวัณโรคโลก เสวนาให้ความรู้วิชาการ แนะประชาชนตื่นตัวรู้เท่าทันวัณโรค ห่างไกลเชื้อวัณโรคดื้อยา

แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาอย่างไม่ถูกต้อง คือ หยุดยาก่อนกำหนดครบระยะรักษา หรือได้รับ การรักษาไม่สม่ำเสมอนั้น จะส่งผลให้เชื้อวัณโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ทนต่อยาที่เคยรักษา ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ เชื้อวัณโรคจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเกิดเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรรับประทานยา ตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษา ไม่ควรหยุดยาเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสิ่งมึนเมา และยาเสพติด พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6 - 8 ชั่วโมง ในสถานที่อากาศถ่ายเทมีแสงแดดส่องผ่าน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่รับการรักษาหากผู้ป่วยพบว่ามีอาการข้างเคียง เช่น ผื่นทั้งตัว ผื่นพร้อมมีไข้ ผื่นพร้อม มีแผลในปากหรือตาแดง มองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่า ตามัว คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหมือนน้ำปลา ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวรู้เท่าทันวัณโรคและวัณโรคดื้อยา ประกอบกับเนื่องในวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันวัณโรคโลก สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ จึงได้จัดกิจกรรมวันวัณโรคโลก ในวันนี้โดยจัดเสวนาให้ความรู้วิชาการ เรื่องวัณโรคและโรคปอดที่เกี่ยวข้อง บริการ x-ray ฟรี จำนวน 100 ราย ในรายใหม่ที่ยังไม่เคยรักษาวัณโรค ให้คำแนะนำอาหารสุขภาพ สาธิตการออกกำลังกาย ตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกาย ตรวจสมรรถภาพปอด และให้คำปรึกษาสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของวัณโรค ตลอดจนสามารถดูแลป้องกันตนเองได้