posttoday

กรมการแพทย์เตือน "คาวาซากิ" โรคในเด็กเล็กอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

19 กุมภาพันธ์ 2561

โรคคาวาซากิ เป็นโรคในเด็กเล็ก จะมีไข้สูงหลายวัน ทานยาลดไข้ไม่ค่อยลด ตาแดงเรื่อโดยไม่ค่อยมีขี้ตา ลิ้นแดงคล้ายผลสตรอเบอรี ริมฝีปากแดงแห้งแตก มือเท้าบวม มีผื่นตามตัว อย่ารอช้ารีบพบแพทย์ทันที

 

โรคคาวาซากิ เป็นโรคในเด็กเล็ก จะมีไข้สูงหลายวัน ทานยาลดไข้ไม่ค่อยลด ตาแดงเรื่อโดยไม่ค่อยมีขี้ตา ลิ้นแดงคล้ายผลสตรอเบอรี ริมฝีปากแดงแห้งแตก มือเท้าบวม มีผื่นตามตัว อย่ารอช้ารีบพบแพทย์ทันที เพราะถึงแม้ว่าอาการของโรคจะสงบไปได้เอง แต่มีภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่หัวใจ และหลอดเลือดที่หัวใจมักมีการอักเสบ แต่มักไม่รุนแรง ที่หลอดเลือดพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย จะมีอันตรายที่หลอดเลือดหัวใจซึ่งอาจโป่งพอง อุดตัน ทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ อันตรายถึงชีวิตได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดง

ทั่วร่างกาย มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบบ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี ข้อมูลของเราคล้ายกับในต่างประเทศที่กว่าร้อยละ 95

จะมีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง และพบว่าในเด็กที่อายุน้อยๆ และเพศชาย จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าเด็กโตๆ หรือผู้หญิง ภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงตั้งแต่วันแรกๆ ของโรค มีช็อก เสียชีวิตได้ แต่พบน้อย ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ต้องตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องตรวจ Echocardiogram ว่ามีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ เสียชีวิตเฉียบพลันได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์

กล่าวว่า โรคคาวาซากิ ของเราพบประมาณ 70-100 ราย/ปี ถ้านับทั่วประเทศก็จะประมาณ 300 ราย/ปี เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีไข้สูงหลายวัน ตาแดง ปากแดง เป็นลักษณะเด่นที่แยกโรคนี้จากไข้หวัดธรรมดาได้ สิ่งที่สำคัญสำหรับโรคนี้คือ อาจพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง

เป็นภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายตั้งแต่อายุน้อยได้ ถ้าพบแพทย์เร็ว ให้การรักษาด้วยยาในระยะแรกๆ ของโรคจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ และหลอดเลือดเหล่านี้ได้ โดยถ้าไม่ใช้ยาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเกินร้อยละ 30 แต่เมื่อให้ยาแล้วจะเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้งยังทำให้อาการไข้หายอย่างรวดเร็วด้วย ยานี้เป็นภูมิคุ้มกันชนิดเข้มข้น มีต้นทุนที่สูงเนื่องจากต้องใช้กระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก ซับซ้อน จึงจะปลอดภัยในการนำมาใช้ แต่สิทธิในหลักประกันสุขภาพครอบคลุมการใช้ยานี้ได้ในโรคคาวาซากิ เด็กที่เป็นโรคนี้ต้องได้รับการติดตามโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นใน 2-3 เดือน ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ปรับระยะเวลาการให้วัคซีนบางชนิดให้เหมาะสม ในกรณีที่มีหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาแอสไพรินไปจนกว่าหลอดเลือดหัวใจจะกลับมาเป็นปกติ ในบางรายอาจต้องไปสวนหัวใจ หรือผ่าตัดเพื่อขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต แบบเฉียบพลัน