posttoday

จากยอดดอยสู่บ้านเรา อร่อยคุณภาพจากวัตถุดิบจากโครงการหลวง : ลาบธัญพืช

30 มกราคม 2561

ลาบธัญพืช เมนูจากวัตถุดิบโครงการหลวง

 

หากเปิดหาความหมายของคำว่าธัญพืช จะพบว่าคำแปลนั้นทรงคุณค่าอย่างมาก ความหมายตามตัวอักษรของคำว่า ธัญ นั้นหมายถึง มีโชค มั่งมี รุ่งเรือง ไม่ขาดแคลน เมื่อนำสมาสกับคำว่า พืช จึงมีความหมายว่า พืชอันทรงคุณค่า อันได้แก่กลุ่มพืชล้มลุกที่เก็บเกี่ยวเอาเมล็ดมาทำเป็นอาหารหลักได้

ผู้เขียนคิดว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันยังไม่เห็นคุณค่าของคำว่าธัญพืชได้เท่ากับมนุษย์ในโลกเก่า เพราะอาหารในปัจจุบันมีให้เลือกซื้อหาเกลื่อนกลาดดาษดื่น ต่างจากในสมัยโบราณที่การกินหมายถึงเริ่มต้นตั้งแต่การเพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเอามาเป็นเสบียงไว้ และหุงหาเมื่อถึงเวลาหิว พืชที่เพาะปลูกแล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาลมาได้ครั้งละมากๆ อย่างเช่นพืชในตระกูลธัญพืช ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีคุณค่า มีความหมายลึกซึ้ง หมายถึงความอยู่รอด ความหมายจึงสะท้อนออกมาเป็นคำอย่างเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งนัก

 

จากยอดดอยสู่บ้านเรา อร่อยคุณภาพจากวัตถุดิบจากโครงการหลวง : ลาบธัญพืช

 

ผู้เขียนไปเที่ยวเปรูมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน ชนเผ่าอินคาที่อาศัยอยู่ตามเทือกเขาแอนดิสนั้นให้ความสำคัญกับธัญพืชอย่างมาก อนุสาวรีย์ของวีรบุรุษอินคายังต้องมีข้าวโพดเป็นเครื่องหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ในช่วงของการครองเมืองเมื่อ 600 กว่าปีก่อน ข้าวโพดของชาวอินคาดูแล้วต้องตะลึงเพราะเมล็ดใหญ่เท่าๆ กับเหรียญบาท ไปจนถึงเมล็ดเกือบๆ เท่าเหรียญสิบบาท รสชาติอร่อยคล้ายๆ ข้าวโพดข้าวเหนียวบ้านเรา มีความหวานหอมอยู่ในตัวและมีหลากสีจนเรียกได้ว่า เกือบจะครบเฉดสีรุ้งเลยก็ว่าได้ ไล่ไปตั้งแต่แดง เขียวอ่อนๆ เหลือง ม่วงเข้ม ม่วงอ่อน ชาวอินคาและชาวเปรูมีอาหารที่ทำจากข้าวโพดเยอะแยะ จนผู้เขียนตะลึงว่าข้าวโพดทำอาหารได้หลากหลายถึงเพียงนี้เชียวหรือนี่ แถมข้าวโพดยังเป็นของโปรดของผู้เขียน จึงสนุกกับการทดลองชิมข้าวโพดหลากหลายชนิดและสีสันในระหว่างท่องเที่ยว

ที่ชอบที่สุดและใกล้เคียงกับการรับประทานข้าวโพดในบ้านเราคือ การเอาข้าวโพดต้มสุกแกะเป็นเม็ดๆ มายำแบบเปรูเวียนที่เรียกว่า Ceviche เปรี้ยวจากมะนาว เค็มจากเกลือ มีหัวหอมใหญ่สีม่วงเข้มๆ ฝานมา พร้อมผักชี และพริกชี้ฟ้าเปรูที่คล้ายๆ พริกชี้ฟ้าเขียวบ้านเรา รับประทานแล้วสดชื่นดีเพราะมันคล้ายๆ ยำ มักเป็นเครื่องเคียงคู่กับอาหารจานอื่นๆ ชาวอินคาดั้งเดิมไม่ได้กินเนื้อสัตว์เยอะ อาศัยแหล่งอาหารจากธัญพืชเป็นหลัก จนนักโบราณคดีค้นพบโครงกระดูกของชาวอินคาบนมาชูปิกชูว่ามักจะมีฟันผุแทบทั้งปาก จากสาเหตุที่กินข้าวโพดแล้วไม่แปรงฟัน ผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปได้ เพราะข้าวโพดเขาทั้งหวานและเหนียว น่าจะติดฟันเอาการ

 

จากยอดดอยสู่บ้านเรา อร่อยคุณภาพจากวัตถุดิบจากโครงการหลวง : ลาบธัญพืช

 

หลังจากครั้งนั้นเลยได้ทดลองเอาข้าวโพดมาทดลองทำยำบ้าง ส้มตำข้าวโพดก็เคยรับประทานดูแล้ว ครั้งนี้จึงขอนำข้าวโพดหวานจากโครงการหลวงที่กำลังเป็นผลผลิตตามฤดูกาลในช่วงนี้มาทดลองทำเป็นลาบธัญพืชดู นอกจากจะได้ความอร่อยของข้าวโพดหวานแล้ว ยังได้คุณค่าทางอาหารที่เด่นในเรื่องของเส้นใย กากอาหารที่มีอยู่มาก ช่วยในการขับถ่ายและกวาดเอาของเสียจากผนังลำไส้ตามหลักอาหารเป็นยา 

ลาบธัญพืชจานนี้ผู้เขียนเลือกข้าวโพดมาเป็นหลักและผสมกับข้าวบาร์เลย์ หากคุณผู้อ่านชอบหรือมีธัญพืชชนิดอื่น หรือจะเป็นถั่วทดลองนำมาปรุงเป็นลาบได้ แนะนำให้ลาบให้รสจัดสักหน่อย เพราะธัญพืชมีแป้ง ไขมันและเส้นใยอาหารอยู่มาก ต้องใช้เวลาในการเคี้ยวพอสมควร หากทำรสจืดเกินไปจะไม่อร่อยเข้มข้นพอเมื่อต้องเคี้ยวให้ละเอียดในปาก ลาบธัญพืชจึงต้องปรุงให้ครบรส เปรี้ยว เค็ม เผ็ดให้จัดจ้านเข้าไว้