posttoday

GIT ลงพื้นที่ มุ่งพัฒนา "เครื่องประดับเงินไทย...ก้าวไกลสู่เวทีโลก"

27 ธันวาคม 2560

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ ๑๕ จังหวัด ๖ ในภูมิภาค พร้อมไปพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับท้องถิ่น

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ ๑๕ จังหวัด ๖ ในภูมิภาค พร้อมไปพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับท้องถิ่น ให้มีดีไซน์ทันสมัยยิ่งขึ้น และส่ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ช่วยด้านการตลาดในประเทศ และ กรมการค้าระหว่างประเทศให้ช่วยด้านการตลาดต่างประเทศ สร้างโอกาสโกอินเตอร์ และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมจับมือการท่องเที่ยวหวังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย ในกิจจกรรม "สู่เมือง....เลื่องชื่ออัตลักษณ์"

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT เปิดเผยว่า หลังจากที่ GIT ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ไปยังจังหวัดเป้าหมาย เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาทั้งในด้านการผลิต การออกแบบ รวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในด้านการตลาด เพื่อให้สินค้าเหล่านี้มีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัย และสามารถจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่เพื่อพัฒนากลุ่ม "เครื่องประดับเงิน" ในจังหวัดเชียงใหม่ น่าน สุรินทร์ ซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว และ สามารถพัฒนาต่อยอดได้

โดยอัตลักษณ์ที่น่าสนใจของเครื่องเงินนั้น มีมากมายและหลากหลายตามภูมิภาค และภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น อาทิ เครื่องเงินบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นเครื่องประดับเงินแบบยัดลาย (Filigree) ซึ่งจัดเป็นภูมิปัญญาของช่างเงินบ้านกาด ที่ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเพียงแหล่งเดียวในประเทศไทย การผลิตเครื่องประดับเงินแบบยัดลายถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งความอดทน ความประณีตและความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในการสร้างชิ้นงาน ซึ่งการผลิตเครื่องประดับแต่ละชิ้นนอกเหนือไปจากขั้นตอนที่มีมากถึง ๓๖ ขั้นตอนแล้ว ยังรวมถึงความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบเงินที่นามาใช้ผลิตซึ่งต้องเป็นเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์สูง จะได้มีความอ่อนตัว สาหรับใช้ในการขดลวดลายได้อย่างอ่อนช้อยและสวยงามมากกว่าวัตถุดิบเงินทั่วไป โดยลวดลายส่วนใหญ่ที่ปรากฎบนชิ้นงานมักเป็นลวดลายจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ ดอกไม้ แมลง ผีเสื้อ กิ่งไม้ เถาวัลย์ ฯลฯ

สำหรับเครื่องเงินชมพูภูคา ในจังหวัดน่าน โดยสินค้าส่วนใหญ่ยังคงเอกลักษณ์ทางลวดลายของจังหวัดน่านเอาไว้อย่างชัดเจน อาทิ ลวดลายทางธรรมชาติ ดอกชมพูภูคา กิ่งไม้ ใบไม้ สัตว์ป่า และลายเกลียวสาน ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวน่านอย่างชัดเจน

เครื่องเงินบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่ : แบรนด์ Angsa Jewelry

และสำหรับในภาคอีสาน ทางสถาบันได้ลงพื้นที่ แหล่งเรียนรู้การทำเครื่องประดับเงินของจังหวัดสุรินทร์ โดยเครื่องประดับเงินในจังหวัดนี้จะเป็นเครื่องเงินโบราณ ประเภทสร้อยคอประเกือม สร้อยจาร และแหวนตะเกา ซึ่งลวดลายเหล่านี้ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องประดับเงินในจังหวัดสุรินทร์ อาทิ ลายดอกทานตะวัน ดอกขจร รังผึ้ง ปลึด ๓ ชั้น ดอกมะลิ ดอกกระเวียง ตั่งโอ๋ รังหอกโปร่ง และรังแตน เป็นต้น

"จะเห็นได้ว่า ความงดงาม และความน่าสนใจของเครื่องเงินในแต่ละภูมิภาคนั้น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน GIT เราจึงได้ให้ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ ไปช่วยพัฒนาด้านเทคนิคการผลิต การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้มีการผลิตสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการค้าขายมากยิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีรายได้ และผลักดันชื่อเสียงสินค้า OTOP จากภูมิภาคสู่ระดับโลกอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ยังได้มีการประสานยังส่วนภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันภูมิปัญญาและ อัตลักษณ์การทำเครื่องประดับโบราณนี้ ให้ก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไปอีกด้วย" นางดวงกมล กล่าว