posttoday

อธิบดีท้องถิ่นมอบแนวทางการทำงานรับปีใหม่ 2561

26 ธันวาคม 2560

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

เมื่อวันที่ 23 และ 24 ธันวาคม 2560 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมอบแนวทางการทำงานในปี พ.ศ.2561 และสร้างความเข้าใจในแต่ละภารกิจให้ตรงกัน เพื่อให้การขับเคลื่อนมีพลัง เกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชน โดยมีนายดุษฎี สุวัฒวิตยากร นายธนา ยันตรโกวิท นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 5501 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

อธิบดีกล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำรวมทั้งให้ส่วนราชการ/หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำรวจความต้องการและพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารา ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เร่งสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนนี้ให้เป็นไปอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นลำดับแรก อย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางรายย่อย

นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า ในชีวิตการทำงานของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น มี 2 เรื่อง ที่ต้องทำตามอำนาจหน้าที่ให้สำเร็จให้ได้ คือ 1.นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านขอให้พวกเราช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องขยะเพียงเรื่องเดียวให้สำเร็จเป็นรูปธรรมให้ได้ ที่สำคัญสุดคือ การขับเคลื่อนที่ต้นทาง โดยการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้น ในด้านการลด ละ เลิกผลิตขยะ และการบริหาร

จัดการขยะตั้งแต่ที่ครัวเรือน และเรื่องการจัดการขยะที่ปลายทาง คือ ความชัดเจนเรื่อง Cluster หรือกลุ่มขยะ จะต้องดำรงที่ตั้งของ Cluster ขยะให้แน่นอน และพยายามดูแลตามอำนาจหน้าที่ โดยให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะได้โดยสะดวก โปร่งใส ไม่ใช่ใช้ขยะเป็นเครื่องต่อรองจนเกิดปัญหาเรื้อรังรุนแรง ต้องมีการพูดคุยกับนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ว่าปัญหาของเราคือขยะล้นเมือง จุดมุ่งหมายสำคัญสุดคือ ทำลายขยะหรือบริหารจัดการขยะให้หมดไปเป็นสำคัญ รวมถึงแผนปฏิบัติการ "ประเทศไทย ไร้ขยะ" ตามแนวทาง "ประชารัฐ" ที่มุ่งหวังให้การจัดการขยะมูลฝอยเกิดผลเป็นรูปธรรม

โดยมีกรอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ จำนวน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะต้นทาง คือ การลดปริมาณขยะและส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ระยะกลางทาง คือ การจัดทำระบบเก็บและขนอย่างมีประสิทธิภาพ และระยะปลายทาง คือ ขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใช้หลักการ 3Rs หรือ 3ช : ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และได้ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาภาชนะรองรับมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนและกำหนดสถานที่จัดตั้ง "จุดรวมขยะอันตรายจากชุมชน" ในหมู่บ้าน / ชุมชนทุกแห่ง อย่างน้อยแห่งละ 1 จุด ให้ครบทุกแห่ง ภายในวันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน

อธิบดีท้องถิ่นมอบแนวทางการทำงานรับปีใหม่ 2561  

พร้อมทั้งรณรงค์สร้างการรับรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีคืนสู่หมู่บ้านและชุมชนให้มีความน่าอยู่ และกรมฯ หวังให้ทุกองค์กรปกครองท้องถิ่นได้มีอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) เพื่อร่วมกันทำความดีทดแทนแผ่นดิน ส่งเสริมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความสนใจ พร้อมที่จะอุทิศตนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน มาร่วมเป็นหนึ่งในอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) นี้ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) แล้ว โดยผู้ที่สมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 7 ปีบริบูรณ์ และมีภูมิลำเนาอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ส่วนเรื่องของระเบียบกฎหมายนั้น ขณะนี้ทางกรมฯได้ทำการเสนอร่าง "ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. ...." เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยแล้ว

สำหรับด้านที่ 2 ในชีวิตการทำงานต้องมีคือ ด้านที่ใจสั่งมาให้เราทุ่มเททำงานตามอำนาจหน้าที่ของเรา ในการสร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นในทุกเรื่อง เพราะทุกกระทรวง ทบวง กรม หวังพึ่งท้องถิ่นให้ช่วยขับเคลื่อน จึงได้กล่าวว่าท้องถิ่นเรา คือคณะรัฐมนตรีที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนงานเรื่องใหญ่ คือท่านท้องถิ่นจังหวัดต้องไปปรับทัศนคติของทีมงานและท่านนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีจิตใจที่ต้องการขับเคลื่อนงาน ในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้คนของท้องถิ่น

หรือทำให้เศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นดีขึ้นนั้น ก็ขอฝากให้ท่านท้องถิ่นจังหวัดไปสำรวจตรวจสอบความเหมาะสมของคนในท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุน ต่อยอดศักยภาพของคนในชุมชนให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น ที่บ้านโพน กาฬสินธุ์ พี่น้องภูไทย มีความขยัน มีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่นเรื่องทอผ้าแพรวา ปลูกพุทรา ซึ่งท้องถิ่นต้องช่วยต่อยอดในการรวมกลุ่มเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการตลาดที่ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่ม และขอให้น้ำหนักกับท้องถิ่นที่จะสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในลักษณะการเป็นเมืองท่องเที่ยวรองหรือที่ท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ในทุกจังหวัดด้วย รวมถึงการดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ ที่มีผู้เข้ามาลงทะเบียนร่วมหกหมื่นราย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในการเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายใหม่ได้มีโอกาสและช่องทางค้าขาย สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว ซึ่งกรมฯ กำลังหาช่องทางการขายสินค้าเพิ่มในลักษณะออนไลน์

เพื่อเป็นช่องทางในการรวบรวมสินค้าของดีประจำถิ่นในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาหาร ที่พักท้องถิ่น และสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีลักษณะการประกอบการทางธุรกิจจำพวกโรงแรมมาก่อน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจและนำข้อมูลดังกล่าว รวบรวมนำเข้าระบบข้อมูลกลางต่อไป

อธิบดีท้องถิ่นมอบแนวทางการทำงานรับปีใหม่ 2561  

สำหรับทางด้านนโยบายของกรมฯ มุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสบผลสำเร็จให้ได้ต่อไปคือ ด้านการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มุ่งหวังให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ให้เด็กสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกรมฯ ได้ตระหนักว่า เด็กเล็กที่อายุระหว่าง 2-5ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต จึงจะผลักดันให้มีแนวทางในการเปิดรับดูแลเด็กเล็กตลอดทั้งปี (ไม่มีปิดเทอม) เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน ทุกๆวัน

อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักทางการแพทย์ ให้ผู้ปกครองสามารถไว้วางใจเมื่อลูกหลานมาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น จึงขอให้ท่านท้องถิ่นจังหวัด ได้พูดคุยหารือร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ที่รับผิดชอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีใจตรงกันในการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเราในทุกด้าน เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้มาเสนอแนะ ปรับปรุงแนวทางในการพัฒนา เพื่อให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบดีเด่นให้ได้ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น มูลนิธิ Unicef สถาบันอาศรมศิลป์ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เอกอัครราชทูตประเทศฟินแลนด์ เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอุดมคติเกิดขึ้นให้ได้ในทุกจังหวัด ก็ต้องขอให้ทุกคนในสังคม ร่วมกันเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยกันพัฒนาการศึกษาของลูกหลานเราให้กว้างไกล

ร่วมกันสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน เพราะพลังของการขับเคลื่อนเหล่านั้น จะสามารถเป็นแรงหนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ขยายวงของการพัฒนาการศึกษาของให้มีความยั่งยืนและกว้างไกลได้ต่อไป

อธิบดีกล่าวต่อถึงแนวทางในการปฏิบัติงานศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนในด้านต่างๆ หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อย 1 ที่ และให้มีการรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน ว่ามีใครที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก อยู่ที่ใดบ้าง และดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของส่วนราชการ เพราะผู้ที่อยากมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือนั้นมีจำนวนมาก แต่อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูลของผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งกรมฯ จะเป็นเสมือนคนกลางในการรวบรวมและจัดส่งปัญหา รวมถึงให้มีช่องทางรับเรื่องขอความช่วยเหลือของประชาชนที่หลากหลาย เช่น โทรศัพท์สายด่วน สายตรง สื่อออนไลน์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อประชาชนจะได้แจ้งข้อมูลข่าวสารและขอความช่วยเหลือได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงจัดให้มีฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ (หน่วยเคลื่อนที่เร็ว) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีและรวดเร็วด้วย

ในด้านการปรับปรุงแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้น อธิบดีกล่าวว่า จะมีการทดลองดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการประจำอำเภอเป็นการภายใน เพื่อให้กรมฯ ได้มีองคาพยพสามารถดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ให้ปริมาณงานที่มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะนั้น ได้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนบุคลากร และมีฐานะเป็นราชการส่วนภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

อธิบดีท้องถิ่นมอบแนวทางการทำงานรับปีใหม่ 2561  

ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2560