posttoday

สถาบันพยาธิวิทยาเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการอณูพยาธิวิทยาให้บริการ ตรวจการกลายพันธุ์ของยีนในโรคมะเร็งและวัณโรค

03 พฤศจิกายน 2560

เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งและวัณโรค ด้วยเครื่องมือที่มีความไวและความจำเพาะสูงครอบคลุมทุกตำแหน่ง ที่พบการกลายพันธุ์

 

สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ เพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการอณูพยาธิวิทยา เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งและวัณโรค ด้วยเครื่องมือที่มีความไวและความจำเพาะสูงครอบคลุมทุกตำแหน่ง ที่พบการกลายพันธุ์ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยหรือพยากรณ์โรคได้อย่างละเอียด ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วได้มาตรฐาน

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการอณูพยาธิวิทยา กลุ่มงานชันสูตรพิเศษ สถาบันพยาธิวิทยา เป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางการแพทย์ด้านพยาธิวิทยากายวิภาค ในระดับตติยภูมิ โดยทำการวิเคราะห์สารพันธุกรรม ( DNA หรือ RNA ) จากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจด้วยวิธีและเทคนิคทางอณูพยาธิวิทยา ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐาน

งานอณูพยาธิวิทยา ให้บริการโดยการสกัดสารพันธุกรรมจากบล็อกพาราฟินชิ้นเนื้อของผู้ป่วย และทำการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมของผู้ป่วยการกลายพันธุ์ของยีนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละรายด้วยเทคนิคทางอณูพยาธิวิทยา โดยให้บริการ 6 รายการ การตรวจการกลายพันธุ์ของยีน EGFR, KRAS, NRAS, RAS, BRAF และยังสามารถตรวจหาเชื้อวัณโรคได้

นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการอณูพยาธิวิทยาของสถาบันพยาธิวิทยา มีแผนดำเนินการพัฒนาการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนต่างๆ ในปลายปี 2560 ด้วยการเพิ่มเทคนิคการตรวจวิเคราะห์กรดนิวคลีอิค โดยเครื่องตรวจที่มีความไวและความจำเพาะสูง ครอบคลุมทุกตำแหน่ง ที่สามารถพบการกลายพันธุ์ ในโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และช่วยให้แพทย์มีข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อประกอบการวินิจฉัย หรือพยากรณ์โรคได้อย่างละเอียด ถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการส่งตรวจทางอณูพยาธิวิทยามาจากหลายหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขี้นทุกปีแพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการอณูพยาธิวิทยา สถาบันพยาธิวิทยา มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพยาธิวิทยาที่มีความรู้ ความ สามารถที่มีประสบการณ์ทำงาน มากกว่า 30 ปี และมีประสบการณ์การทำงานด้านอณูพยาธิวิทยา มากว่า 5 ปี นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุล มีความเชี่ยวชาญและชำนาญทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านอณูพยาธิวิทยา ร่วมปฏิบัติงานวิเคราะห์สารพันธุกรรมของผู้ป่วยเพื่อให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว

สถาบันพยาธิวิทยาเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการอณูพยาธิวิทยาให้บริการ ตรวจการกลายพันธุ์ของยีนในโรคมะเร็งและวัณโรค