posttoday

ความเสี่ยงระดับสูงสุด! โปรดระวัง

15 ตุลาคม 2560

ปัญหาอย่างหนึ่งของบรรษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะบริษัทโอปป้าเกาหลีขนาดใหญ่ที่มาลงทุนในเมืองไทย

ปัญหาอย่างหนึ่งของบรรษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะบริษัทโอปป้าเกาหลีขนาดใหญ่ที่มาลงทุนในเมืองไทย คือ "การเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดบ่อยๆ" โดยมากแล้วเป็นไปตามนโยบายบริษัทแม่ที่มักจะเลือกพนักงานอาวุโสที่มีผลงานดีเด่นผลัดเปลี่ยนกันมานั่งตำแหน่งประธานบริษัทในเมืองไทย ระยะเวลาอยู่ราว 2-4 ปีแล้ว แต่ผลงานเข้าตากรรมการหรือไม่ หากผลงานดี ความประพฤติดีก็ได้อยู่นาน ผลงานแย่ความประพฤติเสื่อมเสียก็ไปเร็ว

แม้เป็นระดับผู้บริหารระดับสูง หากมาทำความเสื่อมเสียในเมืองไทย เช่น เมาแล้วขับรถชนเป็นคดีความ เมาอาละวาดระรานชาวบ้าน หรือแม้แต่มีเรื่องชู้สาว บริษัทแม่ก็เรียกตัวกลับทันที กลับไปก็หมดอนาคตต้องออกจากบริษัทไป บริษัทแม่ที่มีธรรมาภิบาลคำนึงถึงจริยธรรมและเกียรติภูมิของชาติเกาหลีไม่เลี้ยงเอาไว้ค่ะ และมีตัวอย่างจริงแบบนี้หลายรายด้วย บางคนตอนอยู่เกาหลีก็ดีๆ พอมาอยู่เมืองไทยเริ่มเปลี่ยนไป จนคนที่เคยทำงาน ใกล้ชิดตอนอยู่เกาหลีแปลกใจไปตามๆ กัน

บริษัทแม่อาจมองไม่เห็นปัญหาถึงได้เปลี่ยนประธานบริษัทบ่อยๆ ช่วงหลังนี้แทบจะทุก 2 ปี แต่คนไทยที่ทำงานอยู่นานเริ่มจะเบื่อหน่ายแล้ว กว่าผู้บริหารที่มาใหม่จะก้าวข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมไทย-เกาหลีไปได้ กว่าเราจะสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรแบบไทยๆ ให้คนเกาหลีเข้าใจได้ ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งปีแรกนี้เป็นปีแห่งความทรมานของทั้งสองฝ่าย ที่ต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน ประธานมาใหม่แทบทุกคนฟิตจัดในปีแรก พยายามจะสร้างผลงาน จึงสั่งปรับเปลี่ยนทุกอย่างที่ตนเห็นว่าไม่ถูกต้องโดยใช้บริบทของเกาหลีเป็นตัวชี้วัด ปัญหาจึงเกิดขึ้น พอปีที่ 2 เริ่มทำงานเข้าขากัน ปรากฏว่าคนใหม่จะมาอีกแล้ว จนบางครั้งสงสัยว่า "หรือบริษัทแม่จะเอาผู้จัดการอาวุโสมาให้พวกเราฝึกให้เป็นประธาน???"

(ต่อจากฉบับที่แล้ว) โครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอายุองค์กรแก่ที่มีพนักงานเก่าให้กลายเป็นองค์กรอายุน้อยก็เช่นเดียวกัน ถ้าเอาองค์กรไปผ่าตัดทำสาว ร้อยไหม ดึงหน้า ดึงใต้คอให้ตึงที่เกาหลีได้ก็คงจะดี จะได้ไม่ต้องสูญเสียพนักงานที่มีประสบการณ์สูงไป เรื่องนี้ทางฝั่งคนไทยพยายามโน้มน้าวมาหลายปี เนื่องจากแม้จะเป็นสาวโรงงานก็ตาม แต่ไม่ใช่โรงงานทั่วไป พวกเธอผลิต เซมิคอนดักเตอร์ IC TR ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการสร้างทักษะการทำงานกับเครื่องจักรที่ทันสมัยถึง 3 ปีจนเก่ง

ความเสี่ยงระดับสูงสุด! โปรดระวัง

ในที่สุดเราก็จำเป็นต้องดำเนินการ แต่จะเอาพฤติกรรมการทำงานป่วย สาย ลา ขาด งานดี-เสีย ย้อนหลัง 3 ปีมาวัดตามแบบเกาหลีซึ่งไม่ได้พิจารณาความรู้ในตัวคนที่เรียกว่า Tacit Knowledge เลยก็กระไรอยู่ จึงได้ออกแบบแพ็กเกจชี้วัดใหม่ๆ มา 7 ตัว เป็นส่วนผสมของ "แนวคิดแบบมนุษย์กึ่งเครื่องจักร" ออกมาแปลกแหวกแนวสักนิด คือ ยังไม่เจอที่ไหนใช้หลักการ Knowledge Based Maintenance ของเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงซึ่งใช้ประสบการณ์คนที่สะสมไว้มาออกแบบวัดความสามารถของคน คงจะได้ผลงานตีพิมพ์บทความทางวิชาการก็คราวนี้ล่ะค่ะ

ตัวชี้วัด 3 ตัวแรกได้อธิบายไปแล้วนะคะ ชุดที่ 1 เรียกเก๋ๆ ว่า "คุณน่ะ มีค่าของงาน" ชุดที่ 2 ตัวชี้วัด "ใช้ความสามารถต้านความแก่" ชุดที่ 3 เป็นตัวชี้วัด "จะเสียอีกเท่าไรเมื่อสร้างคนใหม่"

สำหรับตัวชี้วัดตัวที่ 4 เป็นเรื่องของผลงานล้วนๆ ตามแบบ HR แท้ๆ คือ การวัดเฉพาะผลการปฏิบัติงาน ความเป็นผู้นำ Multi-Skill ป่วย สาย ลา ขาด มีไอเดียใหม่ๆ ข้อเสนอแนะบ้างไหม ข้อนี้เป็นหัวข้อทั่วๆ ไป ซึ่งถ้าไม่เอามาใส่เลย เดี๋ยว HR จะน้อยใจค่ะ

ตัวชี้วัดตัวที่ 5 เป็นเรื่องของ "สมรรถภาพทางกายที่เหมาะสมกับการทำงานที่ได้รับมอบหมาย" ณ ปัจจุบันยังดีอยู่หรือไม่ หัวข้อนี้ได้แรงบันดาลใจจากการวัด Efficiency ของเครื่องจักร ณ ปัจจุบันว่าทำงานตามฟังก์ชั่นเดิมของมันที่ดีไซน์มาตั้งแต่โรงงานผลิตได้ดีอยู่หรือไม่ หากไม่ดีจะต้องแก้ที่ส่วนไหน ถ้าเป็นเรื่องจักรเราสามารถแยกส่วนออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เคลื่อนไหว ส่วนที่นิ่งอยู่คงที่ และส่วนที่เป็นสมองกลควบคุม แกะออกมาซ่อม หรือเปลี่ยนอะไหล่ได้ ทว่าเมื่อเป็นคนเราแยกชิ้นส่วน แขน ขา ท้อง ไส้ สมองออกมาเปลี่ยนไม่ได้ เลยได้แต่วัดสมรรถนะเพียงอย่างเดียว

สมรรถนะนี้ก็ไม่ได้ให้ออกไปทดสอบกระโดดกบ วิ่งทน ดำน้ำอึด แต่ดูว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมามีความผิดพลาดของงานที่เกิดจากการบกพร่องทางกายภาพของผู้ทำงานหรือไม่ บางคนเริ่มสายตาไม่ดี ส่องกล้องจุลทรรศน์ไม่ค่อยเห็น ปล่อยงานเสียผ่านไปหลายล็อต ซึ่งหมายความว่าเขาไม่เหมาะที่จะทำงานในแผนกที่ต้องใช้สายตาละเอียดแล้ว เป็นต้น ทว่าเพียงตัวชี้วัดข้อเดียวนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่า "เธอแก่แล้ว กลับไปอยู่บ้านเถอะนะ"

ตัวชี้วัดตัวที่ 6 เป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากคำพังเพยโบราณว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึกเสร็จศึกฆ่าขุนพล" นั้นไม่ควรทำ เพราะมันมีความเสี่ยง (Replacement Risk) ซึ่งต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนคนใหม่ เหมือนภรรยาคู่ทุกข์ที่เริ่มตั้งตัวมาด้วยกัน ผ่านวันเวลาไป 20 ปี จะให้สวยใสปิ๊งเหมือนเด็กๆ ก็คงไม่ได้ แต่เธอผ่านประสบการณ์ครอบครัวมาด้วยกัน เธอรู้ทุกเรื่องของเรา ตั้งแต่เรื่องธุรกิจจนถึงเราแพ้อาหารอะไร (ถึงตายได้) หากคิดจะเปลี่ยนภรรยาก็คงมี Risk ที่สูงสุดในชีวิตเป็นแน่

การวัด Replacement Risk นี้ต้องวัด 2 ด้านเลยนะคะ ด้านที่ 1 คือ ความเสี่ยงแต่ละเรื่องจะเกิดขึ้น เช่น ของเสียหลุดออกไปจากสายการผลิต ร้ายแรงต่อชีวิตพอๆ กับคลิปหลุดเลยทีเดียว ทุกความเสี่ยงวัดออกมาเป็นตัวเงินได้ค่ะ เช่น หากเกิดงานเสียขึ้นจะกลายเป็นต้นทุนเท่าไร ด้านที่ 2 คือ ความเป็นไปได้ของการเกิดความเสี่ยงมาก-กลาง-น้อย แล้วก็ตีตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment Matrix) ออกมาได้เลยค่ะ (คราวนี้ก็รู้ว่าจะเสี่ยงตายแค่ไหน)

(อ่านต่อฉบับหน้า)