posttoday

รัฐบาลยกเครื่อง"รัฐวิสาหกิจ"ไทย เพิ่มศักยภาพ-โปร่งใส-สร้างรายได้

21 กันยายน 2560

รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของภาครัฐที่รับผิดชอบภารกิจด้านสาธารณูปโภคทั้งหลาย เช่น ไฟฟ้า ประปา ขสมก. ทางด่วน พลังงาน สื่อสาร และธนาคาร

 

รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของภาครัฐที่รับผิดชอบภารกิจด้านสาธารณูปโภคทั้งหลาย เช่น ไฟฟ้า ประปา ขสมก. ทางด่วน พลังงาน สื่อสาร และธนาคาร แต่ทว่าในความเป็นจริง รัฐวิสาหกิจหลายแห่งประสบภาวะขาดทุน มีหนี้สินนับหมื่นนับแสนล้าน ขณะเดียวกันมีปัญหาด้านศักยภาพการแข่งขันที่ถดถอยจากการที่เอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจแข่งขันกับรัฐมากขึ้น กระทั่งภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณเข้าไปอุดหนุนทุกปี ที่สำคัญมักมีข้อครหาเรื่องการบริหารงานไม่โปร่งใส

การแก้ไขปัญหาที่สะสมมายาวนาน พร้อมกับการปรับโครงสร้างเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มี ประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ เป็นหนึ่งในภารกิจที่ รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ โดยบรรจุไว้ในนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็น 1 ใน 11 นโยบายหลักที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2557

หลังแถลงนโยบาย พลเอกประยุทธ์ ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด โดยพลเอกประยุทธ์ นั่งเป็นประธานเพื่อมาดูภาพรวมการพัฒนาและปรับปรุงรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งอย่างเร่งด่วนด้วยตัวเอง

ภารกิจระยะสั้น นั่นคือ การฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ , ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) , บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหลายแห่งได้รับการฟื้นฟูมีผลไปในทิศทางที่น่าพอใจ และสิ้นปีงบประมาณ 2560 รัฐวิสาหกิจบางแห่งจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้

การปรับปรุงและวางโครงสร้างระยะยาว คนร. มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงเจ้าสังกัดรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจรายสาขา ปี 2560 – 2564 เพื่อให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีแผนงานต่อเนื่อง และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยจะเริ่มใช้ยุทธศาสตร์นี้พร้อมกันในเดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

นอกจากการจัดทำยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจแล้ว การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.พัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... เป็นอีกเครื่องมือที่นายกรัฐมนตรีมุ่งหมายเพื่อสร้างศักยภาพให้กับรัฐวิสาหกิจในระยะยาว โดย คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบและเสนอต่อไปยัง สนช. คาดว่าจะมีผลออกมาบังคับใช้ภายในปีนี้

อีกหลักการสำคัญที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้นำมาดำเนินการแล้วโดยไม่รอให้กฎหมายใช้บังคับ นั่นคือ กระบวนการสรรหากรรมการของรัฐวิสาหกิจ ที่ให้มีความโปร่งใสและผู้ที่จะมาเป็นบอร์ดต้องมีทั้งสมรรถนะหลักและความรู้พื้นฐานที่จำเป็น (Skill Matrix)โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ใช้แนวทางสรรหาบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ทยอยหมดวาระลงในปีงบประมาณ 2560 นี้รวม 20 แห่ง และคาดว่าแนวทางนี้จะใช้สรรหาบอร์ดรัฐวิสาหกิจทุกแห่งได้ครบในปี 2561

นับเป็นมาตรการสกัดกั้นผู้มีอำนาจส่งคนใกล้ชิดเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีข้อกำหนดไม่ให้แต่งตั้ง สนช. ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ต้องการสร้างความชัดเจนว่า .รัฐวิสาหกิจต้องปลอดจากการเมือง.

ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.พัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ยังจะมีการปฏิรูปสำคัญที่จะเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ นั่นคือ การจัดตั้ง .บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ.หรือซุปเปอร์โฮลดิ้ง โดย กระทรวงการคลังถือหุ้น 100%เพื่อถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ 12 แห่งที่มีทุนเรือนหุ้น ประกอบด้วย กลุ่มที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 แห่ง คือ ปตท. การบินไทย ท่าอากาศยานไทย อสมท. และธนาคารกรุงไทย

กลุ่มนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 7 แห่ง ประกอบด้วย ทีโอที , กสท โทรคมนาคม , บริษัทขนส่ง , ไปรษณีย์ไทย , บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ และ บริษัทอู่กรุงเทพ และบริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว

ซุปเปอร์โฮลดิ้งจะทำหน้าที่ดูแลภาพรวมเชิงกลยุทธ์และกำกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทั้ง 12 แห่งในเชิงรุก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส รวมทั้งความสามารถในการสร้างรายได้และกำไร

รัฐบาลยกเครื่อง"รัฐวิสาหกิจ"ไทย เพิ่มศักยภาพ-โปร่งใส-สร้างรายได้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนึ่งในกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย ว่า รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

.ร่าง พ.ร.บ.พัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ จะทำให้การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจมีความบูรณาการ เป็นระบบ และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น อันเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่จะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป. นายประสาร กล่าวย้ำ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้นในการเข้ามาปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพราะสาระของกฎหมายจะช่วยสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้มืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับจากสังคมเข้ามาบริหาร กระบวนการเหล่านี้จะช่วยลดการแทรกแซงทางการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลเลือกตั้ง และการแต่งตั้งคนสนิทเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้

.ความสำเร็จที่เหลือ ต้องรอดูผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ ประชาชนจะได้รับบริการดีขึ้นหรือไม่ รัฐวิสาหกิจทำงานมีประสิทธิภาพ มีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสมากขึ้นหรือไม่ ขจัดปัญหาเส้นสายในการทำงาน ตลอดจนต้องสร้างกลไกการประเมินผลให้ดี ทั้งภารกิจของรัฐวิสาหกิจ ควบคู่กับเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของชาติ. ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุและว่า รัฐบาลยืนยันแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อปฏิรูป ไม่ได้แปรรูป แต่ส่วนตัวเห็นว่าหากจะแปรรูปบางแห่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพก็ถือเป็นความจำเป็น เพียงแต่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากสังคมให้มาก ๆ

รัฐบาลยกเครื่อง"รัฐวิสาหกิจ"ไทย เพิ่มศักยภาพ-โปร่งใส-สร้างรายได้

ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศมองว่า การเข้ามาแก้ปัญหาภายในรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์มีความต่อเนื่องและเป็นระบบ ตั้งแต่การให้ คนร. เข้ามาแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่มีปัญหาขาดทุนสะสม และล่าสุดทราบว่าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) กำลังจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ในเร็ว ๆ นี้

.ส่วนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากที่จะเข้ามาช่วยปฏิรูปและวางรากฐานการพัฒนารัฐวิสาหกิจได้ในระยะยาว เพราะปัญหารัฐวิสาหกิจที่ผ่านมา สาเหตุใหญ่มาจากเรื่องเชิงโครงสร้าง และการถูกแทรกแซงจากทางการเมือง ซึ่งการมีกฎหมายใหม่ มีการตั้งซุปเปอร์บอร์ด รวมถึงมีการตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ จะช่วยลดการแทรกแซง และเพิ่มธรรมาภิบาลในการบริหารให้มีประสิทธิภาพได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้มาก เป็นการทำเพื่ออนาคต. นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศผู้นี้ กล่าวย้ำ

เป็นความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่หมักหมมมานานได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวนโยบายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นเอาไว้ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และที่สำคัญเพื่อให้การบริการที่มีคุณภาพต่อประชาชนคนไทยในระยะยาว.