posttoday

กรมโรงงานฯ ดันโรงงานกว่า 9 ร้อยโรงฯ เข้าโครงการ CSR-DIW

31 สิงหาคม 2560

พร้อมเผยโรงงานเข้าร่วมลดปัญหาชุมชนได้จริง

 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CSR-DIW ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบด้วยมาตรฐาน 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.สิทธิมนุษยชน 3.การปฏิบัติด้านแรงงาน 4.สิ่งแวดล้อม 5.การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม 6.ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 7.การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน โดยในปี 2560 ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ให้ความรู้และมาตรฐาน CSR-DIW และให้คำปรึกษา พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้โรงงานมีความรู้ ความเข้าใจไปพัฒนา และประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการภายในโรงงานและชุมชนโดยรอบให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จำนวนกว่า 900 โรงงาน อย่างไรก็ตามหนึ่งในผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการ พบว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนจากโรงงานลดน้อยลงและชุมชนให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ และคาดว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดพิธีมอบรางวัลและเกียรติบัตรให้กับผู้ประกอบการใน “โครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม CSR-DIW” แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รางวัล CSR-DIW รางวัล CSR-DIW Beginner และ รางวัล CSR-DIW Continuous เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลายปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและพัฒนามุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 ในขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีแนวทางการสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยผลักดันโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มาปฏิบัติให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ จากชุมชนในการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง

นายมงคล กล่าวต่อว่า โครงการ CSR-DIW ได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบด้วยมาตรฐาน 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.สิทธิมนุษยชน 3.การปฏิบัติด้านแรงงาน 4.สิ่งแวดล้อม 5.การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม 6.ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 7.การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ให้ความรู้และมาตรฐาน CSR-DIW มีการให้คำปรึกษา พร้อมทั้งตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้โรงงานมีความรู้ ความเข้าใจไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการภายในโรงงานและชุมชนโดยรอบให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

โดยในปี 2560 กรมโรงงานฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ เน้นการพัฒนาสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความไว้วางใจจากภาคประชาชน พึ่งพาอาศัย เกื้อกูลกัน โดยในปีนี้มีโรงงานเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 915 โรงงาน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีโรงงานที่สามารถดำเนินโครงการได้อย่างโดดเด่นจนได้รับรางวัล CSR-DIW จำนวน 62 โรงงาน รางวัล CSR-DIW Beginner จำนวน 65 โรงงาน และรางวัล CSR-DIW Continuous จำนวน 310 โรงงาน อย่างไรก็ตามหนึ่งในผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม พบว่า โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ CSR-DIW พบปัญหาเรื่องร้องเรียนลดน้อยลงและชุมชนให้การยอมรับมากขึ้น นับว่าเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จหนึ่งในการดำเนินโครงการตลอด 10 ปี ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ และคาดว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการลดผลกระทบอย่างยั่งยืน นายมงคล กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4025 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

 

กรมโรงงานฯ ดันโรงงานกว่า 9 ร้อยโรงฯ เข้าโครงการ CSR-DIW

 

 

ข้อมูลตัวอย่างโรงงานที่ดำเนินโครงการ CSR-DIW

1. บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ ซีแพคในธุรกิจเอสซีจี ซิเมนต์ ที่เข้าไปสร้างประโยชน์แก่ชุมชนโดยรอบ ภายใต้โครงการ “ลานเพลินซีแพค หนึ่งล้านตารางเมตร” ตั้งแต่ ปี 2554 เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่สร้างความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและชุมชนระยะยาว สืบเนื่องจากการดำเนินธุรกิจและลดภาระในการหาวิธีกำจัด หากนำไปทิ้งก็ยากต่อการย่อยสลาย และสร้างมลภาวะต่อสังคมและประชาชน จึงนำเอาคอนกรีตที่เกินจากการจัดส่งให้กับลูกค้ามาใช้ประโยชน์หล่อเป็นแผ่นพื้นคอนกรีตและเชิญชวนชุมชน ลูกค้า เข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันทำ ปูแผ่นพื้นคอนกรีตเป็น “ลานเพลิน” มอบให้ทุกคนในชุมชน วัด และโรงเรียน โดยใช้ “ลานเพลิน” เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน ที่มุ่งประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน และก็นำสิ่งนี้มาแปรรูป ให้มันเป็นมูลค่าด้านการพัฒนาจนได้รับรางวัล CSR-DIW Continuous

2. บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด เป็นอีกบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคมในหลากหลายมิติ อาทิ กิจกรรมส่งเสริมด้านการศึกษา โดยมีการมอบทุนให้บุตรพนักงาน, เด็กกำพร้า และโครงการสหกิจศึกษาเปิดบ้านให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ เข้าเยี่ยมชม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการคลองสวย น้ำใส ปลูกป่า ปล่อยพันธุ์ปลา หรือแม้แต่โครงการรวมพลังสามัคคี ทำดีเพื่อพ่อน้อมเอาหลักคำสอนมาปฏิบัติ ตลอดจนกิจกรรมด้านการส่งเสริมพลานามัย และคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น จัดโครงการฮูล่าฮูป เพื่อสุขภาพ จัดสนามกีฬา และการแข่งขันกีฬาเป็นระยะๆ เพื่อให้คนในชุมชนและโรงงานได้มีกิจกรรมร่วมกัน

3. บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด จัดทำโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์กะลาจากเยาวชน โรงเรียนเกาะช้าง นำผลิตภัณฑ์กะลามาจัดทำเป็นของขวัญสำหรับแจกลูกค้า และช่วยส่งเสริมด้านการตลาดให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจนสามารถได้รางวัลผลิตภัณฑ์เยาวชนแห่งชาติ นอกจากนี้ยังสนับสนุนศูนย์ฝึกอาชีพสตรีชุมชนแหลมฉบัง ในการส่งเสริมการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Toffeezo เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้กับเยาวชนและชุมชนโดยรอบ

4. บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ได้ดำเนินโครงการหลายอย่าง อาทิ โครงการน้ำมันพืชกุ๊กรวมใจพัฒนาสินค้าวัดใหญ่-สุรพล เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิต คำแนะนำ และจัดทำเครื่องผสมส่วนผสมให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ได้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น มีต้นทุนการผลิตลดลง และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับโครงการคัดแยกขยะสัญจรชุมชน ประจำปี 2559 โดยมีการส่งเสริมให้ความรู้การคัดแยกขยะที่ถูกวิธีเพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะในชุมชน

5. บริษัท เอ็ม แอนด์ อาร์ แลบเบอราทอรี่ จำกัด ได้ดำเนินโครงการหลากหลายมิติ อาทิ กิจกรรมส่งเสริมด้านการศึกษา กิจกรรมส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมด้านสังคมและสาธารณประโยชน์ โดยส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบมีอาชีพการสร้างโอกาสเปิดสอนทำอาหารให้กับชุมชน

6. บริษัท คิงส์สเตลล่า แลบบอราทอรี่ จำกัด จัดทำโครงการชุมชนชวนโชว์ เป็นโครงการดีๆ ที่เพิ่มช่องทางให้ชุมชนนำสินค้าของชุมชนออกมาเผยแพร่ให้สังคมรู้จัก พร้อมทั้งมีการนำเสนอผลงานจากการผลิตสื่อเล่าเรื่องสะท้อนวัฒนธรรมและของดีของตำบลตนเองเพื่อเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้ประชาชน ชาวต่างชาติได้เห็นถึงวัฒนธรรมและสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ ถือว่าเป็นการเชิญชวนให้ชุมชนทำกิจกรรมร่วมกันและเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้ชุมชน

7. บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนในการผนึกกำลังทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยการจัดสร้างห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะและร่วมทาสีโรงเรียนให้กับน้องๆ ในพื้นที่ทุรกันดาร เป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีประโยชน์สูงสุดในการเข้าไปแบ่งปันและพึ่งพาอาศัย เกื้อกูลกัน

8. บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด สนับสนุนการจัดทำสาธารณสมบัติและพัฒนาชุมชน อาทิ โครงการน้ำดื่มเพื่อนักเรียน โครงการ BBL ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยเปิดรับการเรียนรู้อย่างสูงสุด ตามพื้นฐาน ที่มุ่งเน้นไปที่เยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดประเทศและเพิ่มขีดความสามารถให้กับเยาวชนรุ่นใหม่

 

กรมโรงงานฯ ดันโรงงานกว่า 9 ร้อยโรงฯ เข้าโครงการ CSR-DIW