posttoday

พิชิต อัคราทิตย์ หนึ่งฟันเฟืองขับเคลื่อนลงทุน

13 สิงหาคม 2560

กระทรวงคมนาคม ถือเป็นกระทรวงหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล

โดย...เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร

กระทรวงคมนาคม ถือเป็นกระทรวงหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 56 โครงการ รวมมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท

นอกจาก อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการฯเป็นหัวเรือหลัก ยังมี พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยฯ ในฐานะนักการเงิน เข้ามาช่วยเติมเต็มบทบาทของกระทรวงหูกวางแห่งนี้ ในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

“ที่ผ่านมา งานหลักของกระทรวงคมนาคม เน้นการกำกับดูแล เป็นผู้คุมกฎ อำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับคน สิ่งของ ขณะเดียวกันมีบทบาทในการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านการลงทุนระบบรถไฟ รางรถไฟฟ้า ซึ่งช่วง 4-5 ปีจากนี้ไป บทบาทของการเป็นผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นมาก”

พิชิต เล่าถึงบทบาทของกระทรวงคมนาคม ซึ่ง 4-5 ปีจากนี้ บทบาทของการเป็นผู้ประกอบการจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น จากการรับผิดชอบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ ภายใต้งบประมาณกว่า 2.3 ล้านล้านบาท

โดยบทบาทการเป็นผู้ประกอบการของรัฐก็เหมือนธุรกิจทั่วไป ต้องมีการสร้าง (สินค้า) รักษา และทำลาย เมื่อลงในรายละเอียดต้องมีการวางแผนด้านการเงิน ที่จะต้องมีช่วงของการระดมทุน ลงทุน และคืนทุน

“การวางแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะต้องสร้างดุลยภาพในตัวเอง เช่น ถ้าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำ เกิดความไม่สมดุล ระดมทุนไม่ได้ โอกาสที่จะคืนทุนก็ไม่มี งานประเภทนี้ที่ผมดูแลอยู่ และต้องเพิ่มทักษะให้กับคนในกระทรวง โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้”

โครงสร้างลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ โครงการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมไปถึงการลงทุนโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ดอนเมือง และสนามบินในภูมิภาค จะต้องมีองค์ประกอบที่สมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ การระดมทุน ลงทุน และคืนทุน

“การตัดสินใจรับหน้าที่ที่กระทรวงคมนาคมครั้งนี้เพราะมองว่าจะสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ ในฐานะนักการเงินคนหนึ่ง เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จได้”

พิชิต กล่าวว่า ภารกิจในการปฏิรูปการรถไฟไทยมีความสำคัญไม่แพ้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟไทยมีศักยภาพสูงมาก มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมายังบริหารจัดการไม่เต็มประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างการบริหารที่ดินมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้ปีละ 2,400-2,500 ล้านบาท หากสามารถบริหารจัดการเทียบเท่าธุรกิจทั่วไป หรือสามารถเพิ่มรายได้อีก 3-4% จากปัจจุบันจะมีรายได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลขาดทุนจากการดำเนินกิจการได้

นี่จึงเป็นที่มา ช่วงที่นั่งเป็นประธานกรรมการ รฟท. ได้ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ รฟท.ขึ้นมา เพื่อบริหารสินทรัพย์ของรถไฟที่มีมหาศาล หากมีรายได้เพิ่ม ช่วยลดผลขาดทุน ปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้น เขาเชื่อว่ากิจการรถไฟจะรอดได้อย่างแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น หากสามารถพัฒนาองค์กรรถไฟให้แข็งแกร่งขึ้นได้ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี รองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีข้างหน้านี้ได้ กิจการรถไฟไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“การพัฒนากิจการรถไฟ มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการผลักดันโครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าองค์กรไม่แข็งแรง จะไม่สามารถสร้างสมดุลในส่วนของการคืนทุนโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้นองค์กรต้องแข็งแรงควบคู่กันไป” พิชิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม พิชิต กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการระดมทุนเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ ต้องทำสินค้าให้ดี ภาษาธุรกิจ เป็นช่วงของโปรดักต์ ดีไซน์ ถ้าทำไม่ดี ไม่มีใครซื้อ ซึ่งรูปแบบการลงทุนในโครงการของรัฐ มีทั้งรัฐลงทุนเองระดมทุน หรือให้เอกชนร่วมลงทุน การออกแบบสินค้าต้องสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ลงทุนสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ ดังนั้นรัฐต้องเข้าไปการันตีผลตอบแทนระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้เลย

เช่นเดียวกับโครงการลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอีอีซีที่จะดึงนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามารัฐในฐานะผู้ประกอบการต้องออกแบบสินค้าให้ดีบริหารความเสี่ยง ปรับปรุงกฎหมายให้เอกชนเข้าร่วมทุน สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ และการันตีผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากออกแบบสินค้าดีจะสามารถดึงนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาได้