posttoday

พม.สร้างอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะให้คนไร้บ้าน

08 สิงหาคม 2560

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มคนไร้บ้านได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มคนไร้บ้านได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง

หลังจากรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือและสนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยให้กับคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร ล่าสุดได้ขยายไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่นที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน ทำให้เหล่าคนไร้บ้านกว่า 5,000 คนได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อีกครั้ง สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไปพร้อมกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงสภาพการณ์ว่า ปัญหาคนไร้บ้าน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครมีไม่ต่ำกว่า 1,000 คน โดยส่วนใหญ่ได้เร่ร่อนมาจากต่างจังหวัด อาศัยอยู่ตามสวนสาธารณะ ใต้สะพานลอย ตลาดสด อาคารร้าง และสถานีเดินรถต่างๆ สอดรับกับที่รัฐบาลมีโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาประชาชนที่มีความเดือดร้อนและต้องการที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งในเมืองและชนบทกว่า 1 ล้านครัวเรือน รวมทั้งผู้เดือดร้อนที่เป็นกลุ่มคนไร้บ้านอีกด้วย

พลตำรวจเอกอดุลย์ ระบุว่านอกจากจะจัดสรรที่พักพิงแล้ว ยังได้ตระหนักถึงคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึงผู้พักอาศัยให้อยู่อย่างมีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรง โดยได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มคนไร้บ้านได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เป็นประธานพิธีลงเสาเอกสร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรกในภูมิภาค รองรับคนไร้บ้านได้ไม่ต่ำกว่า 50 คน ตั้งเป้าเพื่อให้คนไร้บ้าน ไร้ที่พักพิงใช้เป็นสถานที่ตั้งหลักชีวิต และรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน มีทั้งแปลงเกษตร ร้านค้า ร้านกาแฟ สร้างอาชีพ สร้างอนาคตใหม่ไม่ต้องร่อนเร่อีกต่อไป ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จกลางปีหน้า

 

พม.สร้างอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะให้คนไร้บ้าน

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งนายธีรพงศ์  พร้อมพอชื่นบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เล่าว่า ทางพอช.ได้ดำเนินงานไปแล้ว 4 พื้นที่หลัก ในเขตกรุงเทพมหานครมี 2 พื้นที่ ตลิ่งชันและบางกอกน้อย คือศูนย์สุวิทย์วัดหนู จังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มก่อสร้างโดยใช้ชื่อว่าศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ และที่จังหวัดขอนแก่นที่กำลังเริ่มวางแผนดำเนินงานในการจัดหาพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง

ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย ปัจจุบันเป็นศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รวม 4 ล้านเศษ บนเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตขนาด  2 ชั้น รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 70 คน ศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้ถือเป็นรูปธรรมที่สำคัญที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันเรียกร้อง เจรจาต่อรองและผลักดันกับหน่วยงานรัฐ ทำให้กลุ่มคนไร้บ้าน คนจน  คนจร ที่ไร้ที่ยืน  ไร้ตัวตนในสังคม  ได้ตระหนักถึงพลังของตัวเอง

สำหรับการเข้าไปพักอาศัยอยู่ในศูนย์ทางคนไร้บ้านเขาก็จะมีการบริหารจัดการในการคัดเลือกคนเข้าอยู่ โดยมีข้อตกลง กติกาต่างๆ กฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน  เช่น  ห้ามดื่มสุรา  ยาเสพติด ห้ามทะเลาะวิวาท  ลักขโมย ฯลฯ  ช่วยกันออกค่าน้ำ  ค่าไฟเดือนละ 50 บาท  (ยกเว้นคนที่ไม่มีรายได้) อยู่กันแบบพี่แบบน้อง  พอเช้ามืดก็จะแยกย้ายกันไปทำงาน  ส่วนใหญ่จะเก็บหาของเก่าตามถังขยะ  เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุน  คนที่แข็งแรงหรือมีฝีมือทางช่างก็จะไปรับจ้าง  เป็นกรรมกรก่อสร้าง ซึ่งพวกเขาก็จะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้พวกเขายังได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิลขึ้นมา จัดตั้งร้านค้า กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มสวัสดิการวันละบาท  แปลงปลูกผักอินทรีย์  โดยการระดมหุ้นมาเป็นกองทุน  เช่น  ร้านค้าจำหน่ายหุ้นๆ ละ 50 บาท  คนหนึ่งไม่เกิน 10 หุ้น   ปัจจุบันมีเงินทุนประมาณ  30,000 บาทเศษ  จำหน่ายสินค้า  เช่น  ข้าวสาร  น้ำมันพืช  น้ำปลา  ผงซักฟอก  สบู่  ยาสีฟัน เครื่องดื่ม (ไม่มีเหล้า-บุหรี่) ฯลฯ  สิ้นปีก็มีเงินปันผลเฉลี่ยกันไปตามผลกำไร  ส่วนคนที่ขัดสนก็ซื้อเงินเชื่อได้ก่อน  ถือเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่าจะเน้นผลกำไร

นายสุชิน เอี่ยมอินทร์  หรือลุงดำ ประธานสมาคมคนไร้บ้าน สะท้อนความรู้สึกว่า ผมถือว่าที่นี่เป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิตใหม่ แม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลานมาจากที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ที่นี่ทำให้เรามีที่ตั้งหลักมีที่พักมีข้าวกิน คนที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยก็ออกไปหางานทำ หรือเก็บของเก่าขายมีรายได้ก็มาช่วยค่าน้ำค่าไฟให้ศูนย์ฯ หรืออาจจะเก็บออมเอาไว้เป็นทุนสร้างอนาคตใหม่ไม่ต้องเป็นคนเร่ร่อนอีกต่อไป

 

พม.สร้างอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะให้คนไร้บ้าน นางเมธา ปั้นเปล่ง สมาชิกคนไร้บ้านศูนย์สุวิทย์วัดหนู กทม.

 

นางเมธา ปั้นเปล่ง สมาชิกคนไร้บ้านศูนย์สุวิทย์วัดหนู เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงให้ฟังว่า หลังจากได้เข้ามาอยู่ที่ศูนย์สุวิทย์วัดหนูทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีที่นอนพักพิง ชีวิตเหมือนเกิดใหม่ นอกจากนี้ยังได้มีอาชีพสร้างรายได้จากการรวมกลุ่มกันทำขนมปังขายตรา Homeless Made ทำให้มีรายได้สามารถเลี้ยงครอบครัว มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และค่าที่พักได้

ด้านนางแจ่มจันทร์  สุริยา คนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ตนและแฟนต่างก็เป็นคนไร้บ้านเหมือนกัน  แฟนเก็บของเก่าขาย มีรายได้วันละ 100-200 บาท  แต่เวลามีงานรับจ้างก่อสร้างก็จะไปช่วยกัน ตอนนี้กลุ่มคนไร้บ้านตั้งกลุ่มออมทรัพย์หรือ ‘ธนาคารคนไร้บ้าน’ ขึ้นมา ออมเงินคนละ 50 บาทต่อเดือน ใครมีมากก็ออมมาก ตอนนี้มีเงินรวมกันประมาณ 4,000  บาท  มีกองทุนสวัสดิการเอาไว้ช่วยเหลือกันในยามเจ็บป่วย มีเงินกองทุนประมาณ  5,000 บาท  และยังมีกองทุนที่ดินสำหรับคนที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง  มีเงินกองทุนประมาณ 5,000  บาท

แจ่มจันทร์ระบุว่าถ้าศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่สร้างเสร็จก็จะเข้ามาอยู่  คงประมาณต้นปีหน้า  ตอนนี้ถ้ามีเวลาว่างก็จะไปช่วยเดินกาแฟให้คนไร้บ้านที่ประตูท่าแพ  เพราะยังมีคนไร้บ้านอีกหลายคนที่ยังไม่เข้ามาร่วมกลุ่ม  หรือบางคนก็เพิ่งจะออกจากบ้านมา  เราก็เข้าไปแนะนำให้รู้จักกับเครือข่ายคนไร้บ้าน  เพื่อจะได้ช่วยเหลือกัน  ส่วนคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ก็จะต้องลองเข้ามาใช้ชีวิตดูก่อน  เพราะที่ศูนย์แห่งนี้เราจะมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ด้อยโอกาส  ในชุมชนคุ้ยขยะและคนไร้บ้านเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น  แม้ว่าจะเป็นบ้านหรือที่พักชั่วคราวขนาดไม่ใหญ่โต  แต่ก็เหมือนกับที่ ‘ลุงดำ’ หัวขบวนคนไร้บ้านบอกเอาไว้ว่า “เป็นสถานที่ตั้งหลักชีวิต ไม่ว่าจะล้มลุกคลุกคลานมาจากที่ไหนก็ตาม  แต่ที่นี่ทำให้เรามีที่พัก  มีข้าวกิน  เมื่อท้องอิ่ม  คนเราก็จะต้องมองไปข้างหน้า  สู้กับชีวิตต่อไป”