posttoday

กะเทาะมายาคติ ‘คนไทยไร้บ้าน’ ภาพจำกับความจริง

08 กรกฎาคม 2560

เพราะการใช้คำว่าคนไร้บ้าน หรือ Homeless ในเมืองไทย ถูกตีความจากหลายสำนักโดยกำหนดให้ “บ้าน”

โดย...กองทรัพย์ ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

 เพราะการใช้คำว่าคนไร้บ้าน หรือ Homeless ในเมืองไทย ถูกตีความจากหลายสำนักโดยกำหนดให้ “บ้าน” เป็นมายาคติครอบความเข้าใจตลอดการตีความว่า การออกมาใช้พื้นที่สาธารณะของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นคนไม่มีบ้าน เร่ร่อน และผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมก็เข้าใจไปว่าคนไร้บ้าน มีลักษณะเช่นเดียวกับคนเร่ร่อนขอทาน 

 หากแต่คนไร้บ้านในเมืองไทยไม่ได้มีความหมายแคบ เพียงแค่ไม่มีบ้านเท่านั้น เพราะบางคนก่อนจะออกมาจากบ้าน อาจประสบอุบัติเหตุทางครอบครัว เศรษฐกิจ หรือการศึกษา อย่างเช่นในการศึกษาเรื่อง “โลกของคนไร้บ้าน” โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา ที่นิยามคำว่าไร้บ้าน ของกลุ่มคนที่เป็นโฮมเลสในเมืองไทยว่า เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน 

 ในงาน “กิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ Human of Street” ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสารในประเด็น “คนไร้บ้าน” ออกสู่สาธารณะ ให้คนในสังคมในฐานะภาคพลเมืองปรับมุมมองและเปลี่ยนโลกความเข้าใจต่อคนไร้บ้าน อันจะนำไปสู่การเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้างและมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านเข้าถึงที่อยู่อาศัยและสวัสดิการทางสังคม 

กะเทาะมายาคติ ‘คนไทยไร้บ้าน’ ภาพจำกับความจริง

 ในงานนี้ทำให้เห็นภาพเชิงลึกในชีวิตของคนไร้บ้านมากขึ้น ผ่านกิจกรรมละครเวทีที่ผู้แสดงเป็นคนไร้บ้านจำลองชีวิตเสี้ยวหนึ่งของพวกเขาผ่านการแสดง ตีแผ่ชีวิตจริงผ่านสื่อศิลปะนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือคนไร้บ้าน และเวทีเสวนาสาธารณะ “Human of Street” ตอน Meet & Read คนไร้บ้าน จะเป็นการจุดประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง สังเกตการณ์ “สถานการณ์คนไร้บ้าน” ในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม ออกแบบและผลักดันนโยบายสาธารณะของภาคพลเมืองในอนาคต

 โดยมีเป้าหมายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยกระดับชีวิตคนจนเมืองและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างน้อยก็ทำให้คนทั่วไปเห็นมากขึ้นว่า คนไร้บ้านแตกต่างจากคนเร่ร่อนขอทานเพราะพวกเขาส่วนใหญ่ต่างมีศักยภาพในการประกอบอาชีพ ทั้งการเก็บของเก่า การรับจ้าง และการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  

เปิดมุมมอง สร้างความเข้าใจ

 ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เด็กหนุ่มที่คุ้นชินกับภาพของคนไร้บ้านย่านสนามหลวง การร่ำเรียนทางด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร บวกกับช่วงหนึ่งเขาได้อ่านหนังสือเรื่อง “โลกของคนไร้บ้าน” จุดประกายให้ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจและลงมาทำงานประเด็นคนไร้บ้านอย่างเต็มตัว

กะเทาะมายาคติ ‘คนไทยไร้บ้าน’ ภาพจำกับความจริง

 “จากที่เราสัมผัสและสำรวจมา คนไร้บ้านก็คือคนที่เคยใช้ชีวิต กินอยู่หลับนอนในกรุงเทพฯ แต่เขามีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงทางชีวิตหรือการทำงาน ก็ทำให้เขาออกมาใช้ชีวิตลำพัง แต่พอถึงจุดหนึ่งอาจทำให้เขาก้าวมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนคนหนึ่งจะออกมาใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านอย่างยาวนาน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนอนบนพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ซึ่งในแง่หนึ่งคนไร้บ้านคือคนที่เหมือนเรา ประสบปัญหาคล้ายกับเราแต่เราอาจจะมีแต้มต่อที่ดีกว่า อย่างน้อยเราก็มีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมดีกว่าเท่านั้น”

 อนรรฆ เผยข้อมูลการสำรวจเมื่อปี 2558-2559 ของคนไร้บ้าน พบตัวเลขที่น่าสนใจคือ 90% ของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีงานทำ “ข้อมูลที่เราสำรวจมาคือ 90% มีรายได้ แต่ครึ่งหนึ่งไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน หมายความว่าคนไร้บ้านยากที่จะกลับเข้ามามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เมื่อภาวะการจ้างงานไม่แน่นอน วันไหนที่เขาเจ็บป่วยไปหาหมอ วันนั้นเขาต้องขาดแคลน เสียรายได้ ภาวะของความไม่แน่นอน ปัญหาของการมีงานทำ คือส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่มีประสิทธิภาพในการจ้างงานเป็นงานที่ค่าจ้างรายวัน ไม่มีสวัสดิการ บางทีเราเห็นคนไร้บ้านที่นอนกลางวัน ไม่ใช่เขาไม่มีงานทำนะครับ แต่เขาจะต้องไปทำงานตอนกลางคืน อาจจะมีงานตั้งแต่แม่บ้าน รปภ.หรือรับจ้างทั่วไป งานของพี่น้องคนไร้บ้านมีอยู่หลากหลาย แต่รายได้ไม่แน่นอน ถ้าวันไหนไม่ได้ทำงานก็ไม่มีรายได้” 

คนไร้บ้านกับปัญหาสุขภาวะ

 การทำงานรายวันซึ่งไร้สวัสดิการ และความมั่นคงไม่เสถียร จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าเวลาคนไร้บ้านเจ็บป่วยเขาทำอย่างไร? คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ บางคนออกมาจากบ้านไม่มีหลักฐาน บางคนไม่มีแม้แต่บัตรประชาชน แม้เมืองไทยจะโชคดีที่มีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค ที่ทำให้คนทุกคนหรือแม้กระทั่งคนไร้บ้านที่มีบัตรเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่จากการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ 25% ของคนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีบัตรหรือหลักฐานแสดงตัวตน

กะเทาะมายาคติ ‘คนไทยไร้บ้าน’ ภาพจำกับความจริง

 “บางคนบัตรหาย พอบัตรหายก็ใช้วิธีพิสูจน์ตัวตน หรือพิสูจน์สิทธิไม่ได้เลย ก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้ ซึ่งในแง่นี้หลักๆ เราพยายามผลักดันให้สถานพยาบาลช่วยเหลือเฉพาะหน้า กลุ่มมีบัตร แต่สิทธิอยู่ที่อื่น สปสช.ได้เริ่มเปิดช่องทางให้ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ สาเหตุของการไม่มีบัตรก็เป็นเรื่องการเข้าถึงบริการ แต่ผลสำรวจอีกส่วนหนึ่งคือความยากจนเป็นอีกเหตุผลหนึ่งแม้จะมีบัตร ทำให้เขาไม่ขอเข้ารับบริการ อย่างที่บอกไปว่าวันที่เขาไปรับบริการก็ทำให้เสียรายได้ในการทำงานต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งในการเดินทาง” อนรรฆ กล่าว

 ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยสถานการณ์คนไร้บ้านทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นคน เฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักพิงชั่วคราวจำนวน 1,307 คน โดย 80% เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่ 32.5% มีอายุระหว่าง 40-49 ปี ขณะที่มีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สูงถึง 22% ถือว่าสังคมคนไร้บ้าน เป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ก่อนผู้สูงอายุปกติในสังคม 

 จากการทำงานของ สสส.ในช่วงที่ผ่านมา ได้ข้อค้นพบว่าคนไร้บ้านเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาทางสุขภาพมากกว่าค่าเฉลี่ยของสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง ถึง 51%  ขณะที่คนทั่วไป 20% มีปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่รุนแรง (ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม) ประมาณ 70% โดยคนทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 17% โรคประจำตัวไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS) 31% โดยคนทั่วไปประมาณ 22% ปัญหาสุขภาพช่องปาก 70% ขณะที่คนทั่วไป พบ 50% 

กะเทาะมายาคติ ‘คนไทยไร้บ้าน’ ภาพจำกับความจริง

 “การอยู่บนพื้นที่สาธารณะเป็นระยะเวลานาน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้สุขภาพของพี่น้องคนไร้บ้านย่ำแย่ลง และมากกว่า 50% มีปัญหาของการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ไม่มีบัตรประชาชน และปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ” ภรณี กล่าว 

 ขณะที่ สิทธิพล ชูประจง มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิกระจกเงาพยายามหากระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน อาทิ สถานะบุคคล สุขภาพ การเข้าถึงสิทธิและบริการด้านต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี

 "การแก้ปัญหาจะแก้ไขแตกต่างไปตามบุคคล ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาได้พยายามคัดกรองและจำแนกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มที่ขาดสถานะทางสังคม ซึ่งทำให้หางานไม่ได้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของคนไร้บ้าน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะได้รับการดูแลในรูปแบบที่แตกต่างออกไป การหารายได้ของคนกลุ่มนี้อาจจะลำบากกว่า ดังนั้นจึงต้องหารูปแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาในฐานะที่ทำงานคลุกคลีกับคนไร้บ้าน ก็อยากร่วมผลักดันให้ปัญหาคนไร้บ้านได้ออกสู่สาธารณะ และภาคสังคมตื่นตัวและร่วมกันแก้ปัญหาในวงกว้างมากขึ้น"  

กะเทาะมายาคติ ‘คนไทยไร้บ้าน’ ภาพจำกับความจริง

มุมมองจาก 'คนใน' สู่สายตาคนนอก

 โครงการกิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ Human of Street ตอน Meet & Read คนไร้บ้าน เป็นแนวคิดที่ต้องการสื่อสารประเด็นคนไร้บ้านออกมาให้เข้าใจง่ายผ่านกระบวนการสื่อสารที่สนุกสนาน เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาว่าคนพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ได้รู้จักคนไร้บ้านมากนัก จึงเกิดแคมเปญนี้ขึ้น เพื่อสื่อสารกับคนภายนอกว่าชีวิตของคนไร้บ้านในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

 เพื่อให้คนได้เข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือคนไร้บ้าน “My Everyday Life” รวบรวมโดย จ๋วน-ณัฐวุฒิ พิมพ์สำราญ นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเล่าชีวิตประจำวันของคนไร้บ้าน ผ่านกล้องฟิล์ม จ๋วนบอกว่า เขามอบกล้องและฟิล์มหนึ่งม้วนให้กับคนไร้บ้าน ให้พวกเขามีโอกาสบันทึกภาพชีวิตของตัวเอง โดยให้พวกเขาถ่ายอะไรก็ได้โดยไม่ต้องสนใจองค์ประกอบด้านศิลปะ 

 จ๋วน บอกว่า นี่เป็นการมอบให้คนไร้บ้านเลือกมุมมองการนำเสนอ เป็นเสียงของคนในที่เล่าเรื่องตัวเอง ภาพที่จัดแสดงทั้ง 50 ภาพ เป็นภาพกิจกรรม เช่น การต่อคิวรับแจกอาหารบนถนนราชดำเนินและท่าช้าง รวมถึงการทำงานในสถานที่ต่างๆ

 “คนชอบคิดว่าพวกเขาโดดเดี่ยว จริงๆ แล้วคนไร้บ้านมีเพื่อนในเครือข่าย เช่น คนที่ทำงาน ทำให้เราได้เห็นว่าชีวิตประจำวันของพวกเขาเรียบง่าย ธรรมดา แต่ซ่อนบางอย่างที่สำคัญ” 

 วินัย ดิษขจร ช่างภาพสารคดีที่คลุกคลีกับคนไร้บ้านช่วงหนึ่ง มองภาพของจ๋วน และให้มุมมองในฐานะช่างภาพว่า

 “เนื้อหาที่ซ่อนอยู่แต่ละภาพมีความหวัง มีการขอให้ตัวเองมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ บางภาพจะตัดพ้อต่อว่ากับการที่เขาโดนกีดกันออกไป เป็นข้อดีที่จ๋วนแนะนำให้คนไร้บ้านถ่ายภาพด้วยการไม่จัดองค์ประกอบให้ภาพสวยงาม ทำให้คนไร้บ้านถ่ายภาพในมุมมองอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเห็นว่าเขาจะถ่ายในระดับสายตาคนทั่วไป นอกจากภาพบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเคารพ เช่น พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือพระพุทธรูป จะเป็นภาพมุมเสย นอกนั้นจะเป็นภาพในระดับสายตา” ช่างภาพสารคดี ให้มุมมอง 

 นอกจากนี้ วินัย ยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในช่วงที่เขาได้ใกล้ชิดกับคนไร้บ้านว่า

กะเทาะมายาคติ ‘คนไทยไร้บ้าน’ ภาพจำกับความจริง

 “ผมได้สัมผัสกับคนไร้บ้านตั้งแต่ช่วงอายุ 15-23 ปี เพราะทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ รถเมล์สมัยก่อนจะวิ่งวนไปเรื่อยๆ ผู้โดยสารจะมีประเภทคนไร้บ้านจะอาศัยรถเมล์เป็นที่หลับนอน เขาจะนั่งอยู่ด้านหลังและนั่งวนไปเรื่อยๆ เขาจะนั่งถึงเช้า บางทีเขาจะอาศัยแถวๆ อู่รถเมล์ ต่อมาช่วงที่เป็นช่างภาพ ด้วยความสนใจส่วนตัว ผมชอบถ่ายชีวิตคนบนท้องถนนในมิติต่างๆ มีช่วงหนึ่งที่ทำเรื่องกรุงเทพฯ ตอนกลางคืน โฟกัสไปที่เมืองยามค่ำคืน คนไร้บ้านก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นบ่อยครั้ง

 "ก่อนหน้านี้ก็คิดว่าคนไร้บ้านไม่มีงานทำ ซึ่งต้องย้อนไป 20 ปี เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่เหมือนตอนนี้ คนไร้บ้านอาจจะเป็นแรงงานนอกระบบ หรือทำงานรายวันที่ง่ายต่อผู้ประกอบการที่จะจ้างให้เงินและจบกันไปเพราะไม่มีสวัสดิการให้ ผมก็เพิ่งได้รับข้อมูลช่วงหลังๆ เหมือนกันว่าคนไร้บ้านคือคนทำงาน ภาพที่ผมพบเห็นคนโบกธง ถือป้ายโฆษณาคอนโด ยืนอยู่ตามริมถนน หรือหน้าโครงการต่างๆ ซึ่งเราก็เห็นความขัดแย้งของภาพคือเขาชักชวนให้คนมาซื้อบ้าน แต่เขาไม่มีบ้าน ก็ดูหน้าเศร้าอยู่เหมือนกัน” วินัย เล่าฉากที่เขาเห็น 

มองโฮมเลสเมืองยักษ์ วกกลับมาคนไร้บ้านเมืองเรา

 อีกมุมมองหนึ่งจากคนรุ่นใหม่ซึ่งมีประสบการณ์และได้ทดลองเป็นโฮมเลสในต่างประเทศมาแล้วอย่าง ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ นักทำสารคดีผู้ผลิตรายการยักษ์คิ้วท์ in New York กล่าวว่า

 “อย่างที่รู้กันว่านิวยอร์กค่าครองชีพสูงมาก และมีมุมที่ผมไปทดลองไปใช้ชีวิตแบบไม่มีเงินเลยแม้แต่เหรียญเดียวในมหานครที่ค่าครองชีพแพง ได้ทดลองเป็นโฮมเลสในช่วงสั้นๆ ได้ไปใกล้ชิดกับศูนย์ที่เขาให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านที่โน่น สิ่งที่ผมพบก็คือที่นิวยอร์กมีโฮมเลสเยอะมาก พบเห็นตามหัวมุมตึก ถนนหนทาง และตามสถานีรถไฟฟ้า

 “ที่พักอาศัยของโฮมเลสนิวยอร์กคือรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งเป็นที่ที่อยู่แล้วปลอดภัยสำหรับคนไร้บ้านที่โน่น เพราะอากาศบ้านเมืองเขาค่อนข้างโหดร้าย ถ้านอนข้างนอกหน้าหนาวอาจทำให้เสียชีวิตได้ ที่เขาเลือกรถไฟฟ้าอาจจะเพราะวิ่งตลอด 24 ชั่วโมง มีอากาศ มีแสงสว่าง มีความปลอดภัย จะเป็นที่ที่ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและเอาชีวิตรอดของโฮมเลสในนิวยอร์ก จากที่ผมบังเอิญได้ไปถ่ายรายการ จะเห็นว่าเป็นศูนย์อนุเคราะห์ ตอนเย็นๆ จะมีพี่น้องคนไร้บ้านไปยืนต่อแถว ผมก็ไปยืนต่อแถวด้วย ก็ได้เข้าไปคุยกับเจ้าของ เขาจะให้อาหาร ยารักษาโรค ให้อาบน้ำ และฝึกอาชีพ และศูนย์ที่ให้ที่พักพิงจะมีอีกที่หนึ่ง”

 สิ่งที่เหมือนและแตกต่างที่ก้องมองเห็น การดำรงชีวิตของโฮมเลสเมืองไทยและเมืองนอกต่างกันเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนไร้บ้านว่าเป็นคนไม่มีอาชีพ หรือขี้เกียจ เพราะพวกเขามีรายได้ เพียงแต่ว่าไม่มีบ้านที่มั่นคงที่เป็นสมบัติของตัวเอง

 “เท่าที่ผมได้สัมผัสกับโฮมเลสในนิวยอร์กส่วนใหญ่ เขาจะใช้เรียกคนที่มานั่งขอเงินตามถนนหนทาง พอถึงเวลาก็ไปเข้าแถวรับอาหารจากศูนย์บริการศูนย์อนุเคราะห์ ผมมองว่าในทัศนคติของคนทั่วไปที่มองโฮมเลสของคนในนิวยอร์กค่อนข้างมีระยะห่างมากกว่าคนไทย ที่ทุกคนพร้อมให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งคนไร้บ้านเมืองไทยมีความน่ารัก มีความปลอดภัยกว่า ดังนั้น ผมจึงมองว่าโฮมเลสในนิวยอร์กถูกกันจากสังคมทั่วไปมากกว่า เขาจะก้าวร้าว อาจจะด้วยประสบการณ์ที่เขาเจอ หรือสังคมกีดกันเขา บางคนอาจจะมีปัญหายาเสพติด”  

ฟังปากเสียงจากคนไร้บ้าน

 การนั่งฟังคนนอกพูดถึงคนไร้บ้าน การเดินชมภาพนิทรรศการจากมุมมองคนใน หรือการนั่งชมเรื่องราวจุดเริ่มต้นของการออกมาเป็นคนไร้บ้านจากบางฉากในละครเวที ทำให้เราเข้าใจชีวิตคนไร้บ้านก็จริง แต่ก็เพียงบางส่วน ซึ่งกิจกรรมที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจชีวิตคนไร้บ้านมากขึ้น ก็คือกิจกรรม “Mini Homeless Tour เรียนรู้ชีวิตคนไร้บ้าน” ที่พากลุ่มคนเล็กๆ เดินเท้าจากพิพิธบางลำพูเข้าไปศึกษาและพูดคุยกับคนไร้บ้านในพื้นที่เขตพระนคร เช่น ตรอกสาเก และลานคนเมือง 

 ที่ตรอกสาเก เราเจอ "พี่เครา" ดาวเด่นของคนไร้บ้านย่านนี้ พี่เคราเล่าถึงชีวิตตัวเองสั้นๆ ว่า การออกจากบ้านใน จ.เพชรบุรี มาใช้ชีวิตข้างถนนเป็นความชอบและความสุขส่วนตัว ก่อนหน้านี้พี่เคราจะเตร็ดเตร่ย่านสนามหลวง นอนอยู่ริมถนนใกล้ราชนาวีสโมสร เพราะมีห้องน้ำสาธารณะ 

 “ผมออกมานอนแบบนี้กว่า 20 ปีมาแล้ว แต่ไม่ได้อยู่ประจำ อยู่มาหลายที่ ไปบางพลี 2-3 ปี ก็หนีสนามหลวงไม่พ้น ก็กลับมาใหม่ผมทำได้หลายอย่าง งานช่างผมก็ทำได้เกือบทุกอย่าง แต่ผมไม่ต้องการมีผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องการเป็นลูกพี่ใคร ผมจึงมาหาอาชีพตรงนี้ซึ่งเป็นอาชีพอิสระของเราเอง ไม่ต้องเป็นลูกพี่ ไม่ต้องเป็นลูกน้อง ตัวเองคุมตัวเราเอง ถ้าเราหาได้ก็ได้ ถ้าหาไม่ได้ก็หมายถึงเราไม่มีกิน ตอนนี้ผมก็หาอาชีพหาของเก่าขาย รายได้ตอนนี้ค่อนข้างแย่เพราะคนเยอะขึ้น 

 “ถามว่าสนุกไหมชีวิตแบบนี้ โดยส่วนตัวผมสนุก เพราะว่าจากการศึกษาผมไม่ประสบความสำเร็จ ความรักผมไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็จำเป็นต้องมาใช้อาชีพแบบนี้เพื่อระบายความเครียด และใช้เหล้ามาช่วยในบางครั้ง ซึ่งจริงๆ ก็คือประจำ ส่วนการศึกษาผมไม่ได้ต่ำจนเกินไปแต่ก็ไม่สูง 

 “มีคนถามว่าอยากให้คนอื่นมองเราแบบไหน เพราะเราแต่งตัวแบบนี้คนจะมองเรา คนแต่งตัวดีโก้หรูก็จะมองผมเหมือนเราเป็นคนอยู่ใต้พื้นดิน แต่ถามว่าไอ้ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ที่พวกคุณกู้มาหรือเป็นหนี้มาทำให้คุณแต่งตัวโก้หรูได้เนี่ยมันมาจากไหน แต่ผมไม่เอา คุณกระเสือกกระสนหามาเพื่อความโก้หรูของคุณ ผมถามว่าคุณใช้เงินเกินตัวหรือเปล่า ผมไม่มีหนี้สิน ผมไม่ต้องรับผิดชอบในครอบครัว หรือชีวิตใคร ผมแค่รับผิดชอบว่าวันนี้เราจะอยู่รอดไหม นั่นคือตัวเราแค่นั้นเอง

 "ผมใช้ชีวิตวันนี้ไม่มีภาระ ถ้าผมมีเงินเก็บเงินออม ถ้าผมตายไปใครจะเป็นคนรับ รัฐบาลรับอีก 10 ปีข้างหน้าใช่ไหม เพราะฉะนั้นผมจะไปสนใจอะไรในเรื่องนี้ ผมไม่ยึดติดตรงนี้” พี่เครา เล่าอย่างยินดีเพื่อให้เป็นวิทยาทานสำหรับเพื่อนใหม่

 ที่สุดแล้ว สิ่งที่กิจกรรมนี้ต้องการจะบอก อาจจะเพียงต้องการสื่อสารว่า ไม่ว่าคนเราจะอยู่ในสถานะใด จะมีบ้านหรือเป็นคนไร้บ้าน แท้จริงแล้วเขาก็เป็นคนเหมือนเรา เพียงแต่บางคนอาจตกอยู่ในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่ทำให้เขาขาดที่อยู่อาศัยอย่างอบอุ่น เขาจึงต้องมาขออาศัยในพื้นที่สาธารณะเพียงขอให้เขาได้มีที่อยู่หลับนอนพักผ่อนให้เขาได้มีแรงต่อสู้ต่อไป เพื่อความหวังให้เขากลับสู่ชีวิตที่เคยเป็นมา