posttoday

ไนส์คอร์ป จับมือ มศว. สานพลังธุรกิจร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้สังคม

25 มิถุนายน 2560

เปิดตัว BCORP มาตรฐานสากลสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

เปิดตัว BCORP มาตรฐานสากลสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในเวทีสัมมนาขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมสู่ไทยแลนด์ 4.0 “Driving Social Enterprise Towards Thailand 4.0 ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์  และวิสาหกิจเพื่อสังคมไนส์คอร์ป  นอกจากจะมีการพูดถึง Road Map การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุคไทยแลนด์ 4.0  การขับเคลื่อนความร่วมมือประชารัฐเพื่อสังคม ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ยังได้มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ในการขับเคลื่อนเพื่อสานพลังธุรกิจ ให้เข้มแข็งในการร่วมสร้างประโยชน์ให้สังคม ดูแลสังคมและดูแลโลกใบนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

นั่นคือการเริ่มต้นขับเคลื่อนมาตรฐาน BCORP  ในประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการประเมิน การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงคุณประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมุ่งดูแลสังคม เชื่อมโยงระบบรับรองสากล (BCORP Certified) ที่ยกระดับจากการรับรอง “ตัวสินค้าบริการที่ดีต่อสังคม” มาสู่ “องค์กรที่ดีต่อสังคม” ควบคู่กับการสร้างความรับรู้จากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ มุ่งสร้างขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ และมีผลประกอบการที่สะท้อนคุณประโยชน์ต่อสังคม สอดรับสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

นางสาวสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ วิสาหกิจเพื่อสังคม ไนส์คอร์ป และเป็นหน่วยงานสำคัญในการก่อตั้งและขับเคลื่อนมาตรฐาน BCORP เป็นครั้งแรก ในประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันธุรกิจทั่วโลกกว่า 40,000 องค์กรขานรับเข้าร่วมขับเคลื่อนสู่มาตรฐาน “ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคม” (BCORP: Benefit Corporation) โดยการเข้าร่วมประเมินและนำเป็นฐานข้อมูล ESGs ของภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในจำนวนนี้มี ธุรกิจกว่า 2,140 องค์กร จาก 50 ประเทศทั่วโลก ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานนี้

“มาตรฐาน BCORP จะช่วยหนุนทั้งผู้นำทางธุรกิจที่ดี และช่วยกระตุ้นสร้างผู้ตามสู่ระบบของการทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างผลกำไรที่ดีทางสังคมควบคู่กับกำไรทางเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ยังมีความเป็นได้ทางการปฏิบัติ มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาค และด้วยการทำงานคู่ขนานกับระบบตลาดทำให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในระดับผู้บริโภค และเครือข่ายภาคีธุรกิจทั่วโลก เราจึงเชื่อมั่นว่า เอกชนไทยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาองค์กรตามมาตรฐานสากลนี้  ซึ่งหมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  และยังเป็นการสร้างความแตกต่าง เสริมภาคีเครือข่ายและมีการเติบโตที่เข้มแข็ง และส่งเสริมการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการรับใช้สังคม พร้อมสนับสนุนกิจการที่ดี กิจการที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ กิจการที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นกิจการที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบทางสังคมและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีความตั้งใจในการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆในสังคมมีความตระหนักในบทบาทของภาคธุรกิจซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของความยั่งยืนด้านทรัพยากร ตลอดจนความสำเร็จทางธุรกิจผ่านกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ


สำหรับ BCORP มีความหมายว่า “ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคม” หรือ (BCORP: Benefit Corporation) โดยการผ่านการรับรองมาตรฐาน BCORP จะเป็นเครื่องหมายสากลที่สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานที่ดีในการบริหารธุรกิจ  ที่ไม่ได้มุ่งสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมไปพร้อมๆกันด้วย  โดยมาตรฐานนี้สะท้อนในมิติสังคม 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ธรรมาภิบาล พนักงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งนี้องค์กรที่จะเข้าร่วม BCORP สามารถเป็นได้ทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียนมหาชน SME ขนาดใหญ่มากไปจนถึงขนาดเล็ก วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และรวมถึงรัฐวิสาหกิจซึ่งมีกระบวนการดำเนินงานขององค์กรและการบริหารจัดการแบบธุรกิจ ตลอดจนมีเป้าหมายทางสังคม

การพัฒนาเครือข่ายมาตรฐาน BCORP  ริเริ่มเมื่อกว่า 11 ปีก่อน โดย BLAB GLOBAL  ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้วยการสนับสนุนของ มูลนิธิ Rockefeller  และ Standards Advisory Council (SAC) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ จากหลากหลายสาขาทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยปัจจุบัน BLAB ได้ขยายเครือข่าย BLAB Global Partner ไปใน 8 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ Canada, LatinAmerica, Australia & Newzealand , Europe, UK, East Africa, Portugal และ Asia

นายคอเรย์ เลียน ประธานวิสาหกิจเพื่อสังคม DOMI และผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific BCORP Association (APBCA) ประเทศไต้หวัน  กล่าวว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสเข้าร่วมการขับเคลื่อนเครือข่ายเพื่อนนักธุรกิจที่มีจิตวิญญาณเพื่อสังคมในเอเชียและมั่นใจว่าการขับเคลื่อนในประเทศไทยจะมีพลังและเข้มแข็ง เพราะมีความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคการศึกษา เข้ามาเป็นกำลังขับเคลื่อนเผยแพร่และทำงานอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

 

ไนส์คอร์ป จับมือ มศว. สานพลังธุรกิจร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้สังคม

 

รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับ NISE และ Blab นับเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่สำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การพัฒนาสังคม โดยมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาระบบมาตรฐานเพื่อผลักดันให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง และเชื่อว่าสังคมมีความต้องการความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยผลลัพธ์ทางสังคม ดังนั้น BCORP Thailand Movement จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่นักธุรกิจไทย จะร่วมกำหนดมาตรฐานในสิ่งที่ธุรกิจเชื่อว่าการทำธุรกิจนั้นมิได้เป็นไปเพื่อกำไรเพียงเดียวแต่ธุรกิจนั้นคงอยู่เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยเช่นกัน”

การขับเคลื่อนมาตรฐาน BCORP นี้ในประเทศไทย เกิดจากการที่วิสาหกิจเพื่อสังคมไนส์คอร์ป  ซึ่ง ผ่านการรับรองมาตรฐาน BCORP ในกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ได้ร่วมลงนามตกลงความร่วมมือกับ BCORP GLOBAL โดยในระดับภูมิภาค NISE ยังจะได้ร่วมจัดตั้ง BCORP ASIA www.bcorpasia.org  เพื่อสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายและยกระดับมาตรฐานภาคธุรกิจที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม

ไนส์คอร์ปยังได้พัฒนามาตรฐาน BIA Version 5.0 ฉบับภาษาไทยและคู่มือมาตรฐาน BCORP   ขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่สนใจสามารถเข้าถึงและเข้าใจถึงถึงสาระสำคัญ ประโยชน์ ของการได้รับการรับรองมาตรฐานนี้  สามารถติดต่อ ได้ที่  BCORP Thailand Movement  (คุณปฤษฎา สฤษเนตร์) Tel:  02-650-1129 090-669-3961 Email: [email protected]

จุดเด่นของมาตรฐาน BCORP

• มาตรฐาน BCORP ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในกรดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาแนวปฏิบัติของการบริหารดำเนินธุรกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าองค์กร สร้างความเชื่อถือสังคม ส่งเสริมความจงรักภักดีของผู้บริโภค ดึงดูดพันธมิตรและเครือข่ายธุรกิจ ส่งเสริมระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร

• ความเป็นสากลและมีผู้แทนภาคธุรกิจทั่วโลกเป็นแกนหลักร่วมกำหนดขับเคลื่อนมาตรฐาน จึงทำให้มาตรฐานดังกล่าวได้รับการยอมรับ ปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์จริง

• นอกจากนั้น มาตรฐานดังกล่าวได้พัฒนาให้สอดรับกับประเภทองค์กรที่มีตั้งแต่ บริษัทข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียน รัฐวิสาหกิจ SME SEs หมวดประเภทอุตสาหกรรม ขนาดองค์กร ภูมิภาค ตลอดจนสามารถประยุกต์กับรูปแบบการจดทะเบียนองค์กรที่มีความแตกต่างกันในทุกภูมิภาคทั่วโลก

• ขั้นตอนการประเมินสะดวก ใช้ระยะเวลาและทรัพยากรที่เหมาะสม

• เครื่องมือการวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Analytic Tools) เปรียบเทียบในภาพรวมขององค์กรเทียบกับองค์กรต่างๆ ในระดับอุตสาหกรรม ในระดับภูมิภาค ตลอดจนเปรียบเทียบลงลึกในผลประกอบการในมิติสังคม 5 ด้านสำคัญขององค์กร เทียบกับมาตรฐานที่ดีทั่วโลก พร้อมมีแนวทางปฏิบัติพร้อมเครื่องมือสนับสนุนเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐาน

• ตลอดจนมีหน่วยงานสนับสนุนให้คำปรึกษา และเชื่อมโยงกับเครือข่าย BCORP ทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจ

เกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคม ไนส์คอร์ป (NISE)

วิสาหกิจเพื่อสังคม NISE ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ด้วยวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนพลังของภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมไทย ด้วยการพัฒนากลไกเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ เอกชน สังคมสู่การขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมจากทุกภาคส่วน   ที่ผ่านมา NISE มีการขับเคลื่อนกิจการเชิงรุก โดยจัดตั้ง Social Value Thailand ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศกับ Social Value International เพื่อเผยแพร่มาตรฐานและส่งเสริมบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการวางแผนพัฒนาและบริหาร

งาน/โครงการ/กิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณค่าสู่สังคมไทย และเป็นศูนย์กลางในการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ SROI Accreditation for Practitioner/Trainer ของประเทศไทย ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนมาตรฐานระดับองค์กร ร่วมกับ BCORP GLOBAL / BCORP ASIA โดยการส่งเสริมยกระดับมาตรฐานองค์กรธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนในประเทศไทยผ่านเครือข่ายธุรกิจ BCORP Movement Thailand

NISE ยังมุ่งเน้นการเชื่อมระบบตลาดเพื่อสร้างความตระหนักของผู้บริโภคในการสร้างสรรค์สังคมผ่านการบริโภคที่มีความรับผิดชอบและส่งเสริมคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย ภายใต้แบรนด์ Buy Social Thailand ที่เชื่องโยง ธุรกิจน้ำดี กับผู้ซื้อเพื่อสังคม โดยการยกระดับความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมส่งคมผ่านกลไกการจัดซื้อขององค์กร (Social Impact Procurement

NISE ยังร่วมจัดตั้ง Center for Social Impact Excellence:CSI เพื่อเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอองค์ความรู้ โมเดล นวัตกรรม เชื่อมโยงเครือข่ายและพันธมิตรในการสร้างความร่วมมือของผู้นำและนักปฏิบัติทางสังคม เติมเต็มข่าวสารและแนวทางปฏิบัติที่ดี สู่การขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อก้าวสู่การสร้างขีดความสามารถขององค์กรควบคู่กับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืนของโลก