posttoday

ตลาดสดยุคใหม่ ไฉไลหลากหลายแนว

17 มิถุนายน 2560

ตลาดสด เป็นแหล่งรวมของกินของใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการชุมนุมกันทางสังคม แลกเปลี่ยนสินค้ากัน

โดย...พริบพันดาว

 ตลาดสด เป็นแหล่งรวมของกินของใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการชุมนุมกันทางสังคม แลกเปลี่ยนสินค้ากัน แม้ปัจจุบันมีซูเปอร์มาร์เก็ตติดแอร์เย็นฉ่ำเข้ามาแทนที่ แต่ตลาดก็ยังเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ทั้งวิถีชีวิต และเต็มไปด้วยข้าวของแปลกตาที่พ่อค้าแม่ค้าสรรหามาแลกเปลี่ยนเป็นเงิน

 ข้อมูลจากเว็บไซต์ thaifranchisecenter.com เรื่องทำเลค้าขายทั่วไทย ที่เป็นประเภทตลาดสดในประเทศไทย มีจำนวน 1,716 แห่ง กรุงเทพฯ และปริมณฑล 406 แห่ง ภาคเหนือ 274 แห่ง ภาคอีสาน 382 แห่ง ภาคกลาง 330 แห่ง ภาคตะวันออก 106 แห่ง ภาคตะวันตก 54 แห่ง และภาคใต้ 164 แห่ง

 “ตลาด” ตามความหมายในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดว่า เป็นสถานที่ซึ่งปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม และหมายรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำ หรือเป็นครั้งคราวหรือตามวันที่กำหนด

 การนิยามตลาด ยังหมายถึงสถานที่ที่มีโครงสร้างอาคารและไม&O3242;มีโครงสร้างอาคาร รวมถึงดำเนินการเป็นประจำ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ดังนั้น ตลาดสด และตลาดนัดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของไทย จึงถือเป็น “ตลาด”

 ตลาดสด หมายถึง สถานที่สำหรับขายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ปลา ผักและผลไม้ หรืออาหาร อันมีสภาพเป็นของสดและเสียง่าย

 ตลาดสดระดับชุมชน หมายถึง ตลาดสดที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ขายของในลักษณะขายปลีกเป็นหลัก เปิดขายเป็นประจ้า และมีสถานที่ชัดเจน โดยขอบเขตพื้นที่ที่ท้าการศึกษาหมายรวมถึงบริเวณร้านค้าโดยรอบ พิจารณาถึงพื้นที่ที่มีการค้าขายเป็นหลัก ไม่รวมถึงพื้นที่รอบนอกที่เป็นที่ที่อยู่อาศัย

 มาสำรวจพัฒนาการของตลาดสดที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นว่า เป็นเสน่ห์หนึ่งของเมืองไทย

ตลาดสดยุคใหม่ ไฉไลหลากหลายแนว

 ตลาดสด อ.ต.ก. ไม่แพ้ชาติใดในโลก

 เมื่อมาดูข้อกำหนด “ตลาดสด น่าซื้อ” ของกรมอนามัย หมายถึง ตลาดประเภทที่ 1 ที่มีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง  สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการพัฒนาจนผ่านเกณฑ์การพัฒนายกระดับครบ 3 ด้าน คือ ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยอาหาร และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีเกณฑ์การพัฒนาและยกระดับตลาดประเภทที่ 1 ให้เป็นตลาดสด น่าซื้อ ระดับดี มีพัฒนาผ่านเกณฑ์ครบทั้ง 3 ด้าน ดังนี้ ผ่านเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม 17 ข้อ ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร มีการคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค

 ส่วนตลาดสด น่าซื้อ ระดับดีมาก พัฒนาผ่านเกณฑ์ครบทั้ง 3 ด้าน ดังนี้ ผ่านเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม 17 ข้อแรก และอีก 18 ข้อขึ้นไป รวมไม่น้อยกว่า 35 ข้อ ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร มีการคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค      

 แน่นอน ตลาดสด น่าซื้อ ระดับดีมาก ต้องมีชื่อเป็นตลาดสดที่ดีที่สุดในโลกของ ตลาด อ.ต.ก. ถือว่าเป็นการติดอันดับ 4 มาถึง 6 ปีซ้อนแล้ว จุดเด่นของตลาด อ.ต.ก. คือ ความสะอาด และติดไฟสว่าง ทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้ออาหารได้สะดวกยิ่งขึ้น

 ความเป็นมาของตลาด อ.ต.ก. เริ่มขึ้นจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 เมื่อเดือน ต.ค. 2517 เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2518 ในปีงบประมาณปี 2518 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ อ.ต.ก.เช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 42 ไร่เศษ ในบริเวณย่านรับส่งสินค้าย่านพหลโยธิน สร้างตลาดสดต้นแบบ อ.ต.ก.เป็นแหล่งรวมความอร่อยของสินค้าจากทั่วฟ้าเมืองไทย สามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

 + หมวดอาหารสำเร็จรูป เช่น ไก่ย่าง หมูย่าง ข้าวแกง หมูสะเต๊ะ กุ้งแม่น้ำเผา น้ำพริกปู

 + หมวดขนมไทย และของหวาน ได้แก่ ขนมไทย ขนมชื่อมงคลสำหรับใช้ในงานสำคัญต่างๆ และขนมหวานเย็น หอมกลิ่นมะลิไทยๆ

 + หมวดผลไม้ไทยและผลไม้ต่างประเทศ เช่น ผลไม้คุณภาพเกรด A ข้าวเหนียวมะม่วงสูตรต้นตำรับเมืองไทย ผลไม้นอกฤดูกาล ผลไม้คัดพิเศษ ผลไม้ต่างประเทศ

 + หมวดอาหารทะเลแลเนื้อสัตว์ เช่น กุ้งสดๆ ปูเป็นๆ ผ่านการตรวจโลหะด้วยเครื่องมือพิเศษ อาหารทะเลสดๆ ส่งตรงจากแม่กลอง เนื้อวัวคุณภาพสูงเกรดเดียวกับเนื้อวัว "โกเบ"

 ตลาด อ.ต.ก. เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. สามาถนำรถส่วนตัวไปได้ โดยทางตลาดได้จัดเตรียมสถานที่จอดรถไว้ให้ หรือจะเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร ก็สามารถมายังตลาด อ.ต.ก.ได้เลย

 เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นเอ็น บอกถึงเหตุผลในการคัดเลือกตลาด อ.ต.ก.ของไทย เป็นตลาดสดที่ดีที่สุดในโลก อันดับ 4 จากเสน่ห์ของตลาดนี้ทำให้นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินกับการเลือกซื้อเครื่องแกงนานาชนิด ตั้งแต่ผงกะหรี่และเครื่องเทศต่างๆ และศูนย์อาหารที่รวบรวมอาหารไทยไว้นานาชนิด

 ที่สำคัญที่สุด เป็นตลาดค้าขายสินค้าจากชาวบ้านและเกษตรกรจริงๆ มีให้เลือกหลากหลายและสดใหม่ ไม่ใช่ซูเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้า ตลาด อ.ต.ก.เป็นตลาดสดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารปรุงสุก และอาหารอื่นๆ ที่หาได้เฉพาะในประเทศไทย รวมทั้งมีสินค้าจากประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย

ตลาดสดยุคใหม่ ไฉไลหลากหลายแนว

เสียงจากสมาคมตลาดสดไทย

 “ตลาดสดสะอาด อาหารปลอดภัย คนไทยแข็งแรง เมืองไทยแข็งแรง”

 เป็นปณิธานที่ “สมาคมตลาดสดไทย” วางเป้าหมายเอาไว้ ด้วยส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับตลาดสด โดยมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์ตลาดสดไทยให้คงดำรงวิถีการค้าแบบไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการ ผู้ค้า และผู้บริโภคในการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น และแก้ไขปัญหาของตลาดสด เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพ ราคายุติธรรม และความปลอดภัยของสินค้าในตลาดสด เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดสดให้มีระบบการค้าที่มีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันได้ เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพและประสานงานกับชมรม สมาคม ประกอบการ ธุรกิจอื่น องค์กรเอกชน และหน่วยราชการ

 สำหรับประวัติความเป็นมาสมาคมตลาดสดไทย จัดตั้งตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 ซึ่งพัฒนาการของตลาดสดไทย ในความร่วมมือของสมาคมตลาดสดไทยก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก

 จันทร์นิภา สถิรปัญญา กรรมการผู้จัดการตลาดมีนบุรี (ตลาดเอกชน) ซึ่งนั่งในตำแหน่งเลขาธิการสมาคมตลาดนัดไทย มองว่า การที่ตลาด อ.ต.ก.ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตลาดสดระดับโลก 6 ปีซ้อน มองว่าเป็นข้อดี เป็นเรื่องที่ดีของประเทศไทยที่ตลาดสดไทยมีการพัฒนาตลาดสดไปได้ในระดับโลก ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างของตลาดสดอื่นๆ ได้พัฒนาไปในรูปแบบนี้บ้าง ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องช่วยส่งเสริม หรือทำเป็นแผนช่วยในเรื่องการท่องเที่ยว น่าจะได้ประโยชน์

 “มองว่า ตลาด อ.ต.ก.สะดวกกับการเดินทางของนักท่องเที่ยว มีรถไฟฟ้าไปถึง 2 สาย ทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงอยู่ใกล้กับตลาดนัดสวนจตุจักร และมีการขายสินค้าที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย”

 ภาพรวมตลาดสดไทยในปัจจุบัน จันทร์นิภา บอกว่ายังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ เพียงแต่ว่าจะพัฒนาอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มาจับจ่ายซื้อของ หรือคนที่ทำตลาดยกระดับของตลาดสดขึ้น

 “เราก็มีแม่แบบมาแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะมีชื่อเสียงในระดับโลก แม้จะเป็นตลาดในประเทศเมืองร้อนก็ตาม ซึ่งจะมีภาวะปัญหาของเรื่องแมลงและอากาศ แต่ด้วยเรื่องของความสะอาดและคุณภาพของสินค้า รวมถึงชนิดของสินค้าที่มีความหลากหลายของสินค้าเยอะมาก ผลไม้เรามีหลายอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา ส่วนจุดอ่อนในเรื่องของความสะอาด เราจะต้องเข้าไปปรับปรุงและเข้าไปดูว่าจะเพิ่มในจุดไหน อย่างตลาดสดต่างประเทศ เขามีสินค้าของสดและสามารถทำอาหารขายได้ในนั้นทันที ทำอย่างไรให้สะอาดสะอ้านดูแล้วน่าเข้าไปอุดหนุน”

 ในเรื่องของแพ็กเกจจิ้ง ใครบอกว่าตลาดสดใส่ถุงพลาสติกแล้วกลับบ้านได้ จันทร์นิภา ชี้ว่าบรรจุภัณฑ์ได้รับการพัฒนาขึ้นมามากแล้ว ดูแล้วมีมาตรฐานและลดการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เพิ่มความแตกต่างของตลาดสดในระดับล่างๆ ให้พัฒนาขึ้น

 “ตลาดสดจะมีของสดอยู่แล้ว ผัก ผลไม้ก็มีหลากหลายอยู่แล้ว คิดในมุมนักท่องเที่ยว เหมือนเราไปเมืองนอกเราก็อยากเห็นสินค้าพื้นบ้านพื้นถิ่นของเขา นักท่องเที่ยวที่มาบ้านเราก็เช่นกัน อย่างตลาดมีนบุรีก็ดังเรื่องปลาน้ำจืด ผักพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งหาไม่ได้ในตลาดไหน เท่าที่ดูนักท่องเที่ยวต่างชาติจะชอบสินค้าที่มีสตอรี่มีเรื่องราวที่มาที่ไปของสินค้า อย่างที่มาของผักชื่อนี้มาจากไหน หรือมีมุมมีประวัติของตลาดให้อ่าน มีมุมให้นั่งเล่นนั่งพัก มุมถ่ายรูปสวยๆ ในขณะเดียวกันเรื่องของคุณภาพสินค้าต้องไม่ด้อย ต้องมีการพัฒนาไปอย่าหยุดนิ่ง ตาชั่งต้องเที่ยวตรง ราคาต้องเป็นธรรม”

 เรื่องของการพัฒนาตลาด จันทร์นิภา บอกว่า ภาครัฐก็เข้ามาช่วยส่งเสริมด้วย การให้รางวัลต่างๆ ก็คือการส่งเสริมตลาดนั่นเอง เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น หรืออาจจะไปขยายผลในเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวด้วย

 “นอกจาก อ.ต.ก.แล้ว ตลาดตามท้องถิ่นหรือตลาดตามต่างจังหวัดมีหลายที่ที่ดี เพียงแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่รู้จัก เลยไม่รู้ว่ามีของดีและการพัฒนาตลาดสดที่ดีเยี่ยม ตลาดมีนบุรีก็พยายามทำในเรื่องของเว็บไซต์ การประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วเราก็พยายามที่ร่วมมือกับภาครัฐในการยกระดับตลาดสดไปพร้อมๆ กัน

 “ตอนนี้ตลาดสดต้องแข่งกับตัวเองในการพัฒนาให้ไปได้เร็วกว่าโลกที่พัฒนาไป เสน่ห์ตลาดสดไทยมีมากอยู่แล้ว และยังคงอยู่ถาวร ตลาดสดต่างๆ ที่มีการปรับปรุงพัฒนาจากผู้ค้าซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะมีคนมาเดินมากขึ้น ในตลาดสดก็จะมุ่งเน้นในเรื่องของตลาดปรุงสำเร็จเข้ามาด้วย ซึ่งทำให้คนกลับเข้ามาซื้อในรสมือของอาหารรสท้องถิ่น”

 จันทร์นิภา ขยายภาพของตลาดสดในปัจจุบันว่า เดี๋ยวนี้ในการทำตลาดสด รุ่นนี้มีการพัฒนาอย่างมาก เจ้าของก็ไปเรียนรู้จากหลายๆ แห่ง มีแม่แบบมีภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์ ตลาดสดจึงมีการพัฒนาทั้งเรื่องของความสะอาด สินค้าที่สด เรื่องของคุณภาพ

 “หลายคนชอบเดินติดแอร์ อยากลองให้กลับมาดูตลาดสดอีกครั้งว่าเขาพัฒนาไปไกลขนาดไหนแล้ว เคยไปดูตลาดสดต่างชาติเขามีส่วนของการโชว์สินค้าที่สวยงาม มีวิธีการขายเรียกลูกค้า เอาอาหารมาปรุงสดๆ ให้ชิม มีมุมนั่งมุมพักผ่อน เวลาไปต่างประเทศก็ไปหาไปดูตลาดสดก่อนเลย ตลาดสดบางที่เน้นเรื่องของความสด บางที่เน้นเรื่องความสวยงาม บางที่เน้นอาหารที่ขึ้นชื่อปรุงกินสดกันเลย

 “เป็นเรื่องดีที่คนจะหันกลับมาใช้จ่ายซื้อของในตลาดสด เพราะตลาดสดเป็นของคู่บ้านคู่เมือง อยู่กับคนไทยมานาน สามารถช่วยประชาชนผู้ค้ารายย่อยที่ทำมาค้าขาย มีสินค้าไม่มากนัก ตลาดสดมีเสน่ห์ที่น่าสนใจเยอะมาก และมีการพัฒนาที่มากขึ้น เป็นทั้งที่ท่องเที่ยว เป็นที่ขายสินค้าราคาถูก เป็นที่พบปะสังสรรค์ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย”

ตลาดสดยุคใหม่ ไฉไลหลากหลายแนว

ตลาดต้นแบบ ‘ถ้วยทอง’ ของ กทม.

 โครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย ภายใต้วิสัยทัศน์ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองอาหารปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดสารพิษ บริโภคได้อย่างมั่นใจ โดยจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารในตลาด นับตั้งแต่ปี 2557 สนับสนุนให้ตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการพัฒนาคุณภาพตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมๆ กับพัฒนาตลาดกรุงเทพมหานครสู่สุดยอดตลาดต้นแบบ เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพมาตรฐานด้านการสุขาภิบาลอาหารในตลาดของกรุงเทพมหานครสู่ “สุดยอดตลาดต้นแบบ ระดับถ้วยทอง”

แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ตลาดที่มีโครงสร้างอาคาร จะต้องเป็นตลาดที่ผ่านเกณฑ์ได้รับป้ายรับรองตลาดสะอาด ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยระดับเพชรต่อเนื่องกันมา 5 ปี มีเกณฑ์การตรวจประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยอาหาร และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

 ประเภทที่ 2 ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร ต้องได้รับป้ายรับรองตลาดสะอาดได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยระดับเงินต่อเนื่องกัน 5 ปี โดยมีเกณฑ์การตรวจประเมินทั้งสองด้าน ได้แก่ ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและด้านอาหารปลอดภัย โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีตลาดทั้งหมด 365 แห่ง ประกอบด้วยตลาดประเภทที่ 1 จำนวน 143 แห่ง และตลาดประเภทที่ 2 จำนวน 222 แห่ง ในจำนวนนี้มีตลาดที่ผ่านเกณฑ์ป้ายรับรองตลาดสะอาดได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย จำนวน 284 แห่ง ทั้งนี้ สถานประกอบตลาดที่ได้รับป้ายรับรองฯ จะต้องผ่านเกณฑ์ในด้านการเป็นสถานประกอบการตลาดที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขด้วย

 นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังมีการมอบรางวัลตลาดต้นแบบระดับถ้วยทอง ยกระดับมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารในตลาดสดด้วย ล่าสุดเมื่อปี 2559 มีการมอบป้าย “สุดยอดตลาดต้นแบบ ระดับถ้วยทอง” แก่ผู้ประกอบการตลาด จำนวน 24 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดประเภทที่ 1 จำนวน 15 แห่ง และตลาดประเภทที่ 2 จำนวน 9 แห่ง พร้อมมอบป้ายรับรองตลาดสะอาดได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ให้แก่ผู้ประกอบการตลาดจำนวน 284 แห่ง

 สำหรับตลาดที่ได้รับรางวัลสุดยอดตลาดต้นแบบระดับถ้วยทอง ประจำปี 2559 จำนวน 24 แห่ง ประกอบด้วย 1.ตลาดถนอมนิมิตร เขตบางเขน 2.ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี เขตมีนบุรี 3.ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน 4.ตลาดใหม่ทุ่งครุ เขตทุ่งครุ 5.ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน 6.ตลาดสายเนตร เขตคันนายาว 7.ตลาดบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย 8.ตลาดลานบุญ เขตลาดกระบัง 9.ตลาด อ.ต.ก. เขตจตุจักร 10.ตลาดพิบูลย์วิทย์ เขตจอมทอง 11.ตลาดวัฒนานันท์ เขตดอนเมือง

 12.ตลาดอ่อนนุช เขตวัฒนา 13.ตลาดเอี่ยมสมบัติ เขตสวนหลวง 14.ตลาดพิบูลย์วิทย์ 4 เขตบางขุนเทียน 15.ตลาดบวรร่มเกล้าฯ เขตลาดกระบัง 16.ตลาดแฮปปี้แลนด์ เขตบางกะปิ 17.ตลาดนัดบ่อปลา เขตพระโขนง 18.ตลาดนัดพิบูลย์วิทย์ 2 เขตบางขุนเทียน 19.ตลาดจินดา เขตบางเขน 20.ตลาดนัดสะแกงาม เขตบางขุนเทียน 21.ตลาดพิบูลย์วิทย์ 6 เขตจอมทอง 22.ตลาดท่าดินแดง เขตคลองสาน 23.ตลาดนัดสะพานผัก เขตตลิ่งชัน และ 24.ตลาดวงเวียนปิ่นเจริญ 1 เขตดอนเมือง

 นับว่าตลาดสดมีแนวโน้มของการพัฒนาด้านสุขาภิบาลที่ดีขึ้น จะเห็นได้จากจำนวนตลาดที่ได้รับรางวัลสุดยอดตลาดต้นแบบ ระดับถ้วยทอง และจำนวนตลาดที่ผ่านเกณฑ์ป้ายรับรองตลาดสะอาดได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจ ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาจากทุกฝ่าย ส่งผลให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย

ตลาดสดที่ดีที่สุดในโลก

1.ตลาด “ลา โบเกเรีย” เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

 เป็นตลาดเก่าแก่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ตั้งอยู่ในย่านพลุกพล่าน ลา รอมบา เดิมเป็นตลาดค้าหมู ปัจจุบันถือเป็นอีก 1 แห่งที่คนในท้องถิ่นนิยมเดินทางมาฝากท้องมื้อกลางวันด้วย

2.ตลาดปลา “สึกิจิ” กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 ถือเป็นตลาดค้าปลาและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ มีอาหารทะเลให้เลือกสรรมากกว่า 400 ชนิด ตั้งแต่สาหร่ายราคาถูก ไปจนถึงหอยเม่นทะเล และคาเวียร์มูลค่าหลายร้อยดอลลาร์ นอกจากนี้เชฟจากภัตตาคารดังยังนิยมเดินทางมาประมูลวัตถุดิบไปปรุงอาหารด้วย

3.ตลาด “ยูเนี่ยน สแควร์ ฟาร์เมอร์” นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 ตั้งอยู่ในย่านแมนฮัตตัน เดิมทีช่วงปี 1970 เป็นเพียงตลาดเล็กๆ ที่เหล่าเกษตรพากันมาค้าขาย แต่ปัจจุบันมีผู้เดินทางมาจับจ่ายจำนวนมาก มีเกษตรกรท้องถิ่น พ่อค้าเนื้อ ร้านขนมปัง ร้ายขายปลา มาขายมากกว่า 140 ร้าน มีคนมาซื้อของมากสุดราว 6 หมื่นคน

4.ตลาด “อ.ต.ก.” กรุงเทพฯ ประเทศไทย

 ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวขาช็อปอย่างสวนจตุจักร ที่นอกจากจะมาซื้ออาหารสด อาหารสำเร็จรูปแล้ว ยังสามารถเดินไปซื้อของที่ระลึก ของแต่งบ้านต่อได้สบายมาก โดยตลาด อ.ต.ก.มีทั้งผักและผลไม้หลายหลากชนิดที่เป็นของไทยเอง และนำเข้าจากเพื่อนบ้านทั่วเอเชีย นอกจากนี้ยังมีเครื่องแกงที่น่าสนใจอีกเยอะ

5.ตลาด “เซนต์ ลอว์เรนซ์” เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา

 ตลาดเก่าแก่อายุ 200 ปี มีทั้งของสด ผักผลไม้ กว่า 120 ร้าน สีสันอยู่ที่วันเสาร์ เพราะเกษตรกรท้องถิ่นจะขายสินค้าออร์แกนิกตามฤดูกาล มีทั้งชีส ธัญพืช ฯลฯ ส่วนคนในท้องถิ่นมักนิยมซื้ออโวคาโด และผลไม้อื่นๆ ที่นำเข้า เพราะสภาพอากาศในรัฐออนตาริโอ ไม่สามารถปลูกได้

6.ตลาด “โบโรห์” กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 ถือเป็นตลาดผักและผลไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในลอนดอน เปิดมาตั้งแต่ปี 1755 แต่จริงๆ ทราบกันมาก่อนว่าเป็นแหล่งค้าของสดตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ภัตตาคารดังๆ ในลอนดอนก็มักมาหาวัตถุดิบจากที่นี่

7.ตลาด “ครีตา อาเยอร์” สิงคโปร์

 อยู่ในย่านไชน่าทาวน์ จำหน่ายอาหารสดแนวเอเชียมากมาย รวมไปถึงวัตถุดิบแปลกๆ อาทิ กบและเต่าเป็นๆ นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรนานาชนิดด้วย ส่วนชั้นบนของตลาดก็มีก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ และอาหารท้องถิ่นให้เลือกหากหิวเสียก่อน

8.ตลาด “แลงแคสเตอร์ เซ็นทรัล” เมืองแลงแคสเตอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

 เป็นอีกหนึ่งตลาดเก่าแก่ เริ่มค้าขายกันตั้งแต่ช่วงปี 1970 ก่อนกษัตริย์จอร์จที่ 2 จะแต่งตั้งให้เป็นตลาดจริงจังในปี 1742 และนับแต่นั้นมาก็ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

9.ตลาด “โพรวองกาล” เมืองอองตีบส์ ประเทศฝรั่งเศส

 เมืองอองตีบส์เป็นเมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ สินค้าส่วนใหญ่มาจากทั่วแคว้นโพรวองซ์ ถือเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบที่อยู่ในอาหารจานหลักของฝรั่งเศส ทั้งตับห่าน น้ำผึ้ง ไวน์ ชีส ผลไม้อบแห้ง และเครื่องหอมต่างๆ นอกจากนี้รอบๆ ตลาดยังมีร้านกาแฟน่านั่งอีกจำนวนมาก

10.ตลาด “เกาลูนซิตี้” เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง

 เป็นที่นิยมทั้งของนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ มีของสดคุณภาพทั้งเนื้อ ปลา ผัก ของทานเล่น